วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

พุทธศึกษา: กระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Buddhist studies: the paradigm of sustainable development.)







พุทธศึกษา :  กระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน
(Buddhist studies: the paradigm of sustainable development.)
 โดย...จริยา  ทองหอม

ประเทศไทยรับพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติและได้รับการหล่อหลอม จากหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนามาเป็นเวลายาวนาน วิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่  ตั้งแต่   เกิดจนตายเกี่ยวโยงสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระพุทธศาสนา  แต่เมื่อสังคมโลกเปิดกว้างทั้งในด้านสังคม  เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติในหลายๆด้าน  ดังนี้


1.  ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทยในปัจจุบันและอนาคต
 
  
เนื่องจากสภาพโลกาภิวัฒน์มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง การศึกษาและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (คณิภา ธุระธรรม, 2555)          ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทย ดังนี้
                1. ปัจจัยด้านสังคม  สังคมไทยยังมีลักษณะสังคมอุปถัมภ์ เห็นแก่พวกพ้องมากกว่าส่วนร่วม ผู้ที่มีอำนาจมักแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง โดยที่ประชาชนไม่กล้าขัดขวาง เพราะต้องพึ่งพาอาศัย ดังนั้น เมื่อมีการกระจายอำนาจทางการศึกษา อาจกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ให้กับผู้มีอิทธิพลได้หากควบคุมไม่ดี ขาดการเปิดกว้างทางความคิดและการรับฟังความเห็นของผู้อื่น สังคมไทยมีค่านิยมว่า การมีความคิดที่แตกต่างหรือการเป็นแกะดำ เป็นสิ่งไม่ดี มองผู้ที่คิดแตกต่างเป็นศัตรู และพยายามหักล้างความคิดซึ่งมักกระทำโดยใช้อารมณ์มิได้ใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผู้เรียนที่ปัจจุบันมุ่งสร้างคนให้คิดเป็นทำเป็น
                2. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ  ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลต่อตลาดแรงงานและตลาดการศึกษา เนื่องจากการกำหนดลักษณะของแรงงานที่ต้องการ อาทิ เศรษฐกิจใหม่ จะแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจซึ่งต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนา การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจข้ามชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนมาก มีเครือทั่วโลก เทคโนโลยีทันสมัย และบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์สูง  สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีความไหวตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น 
                3. ปัจจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม   เทคโนโลยีสารสนเทศ นาโนเทคโนโลยี  เทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลต่อการกำหนดคุณสมบัติและคุณภาพของแรงงานในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ  
                4.  ปัจจัยด้านสถาบันการศึกษาไทย เนื่องจากปัจจัยด้านสถาบันการศึกษามีอิทธิพลต่อการกำหนดภาพอนาคตในการจัดการศึกษา เพราะเป็นหน่วยปฏิบัติการโดยตรง ซึ่งมีความแตกต่างกันในด้านประเภท ขนาด และศักยภาพในการจัดการศึกษาที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ภาพอนาคตการศึกษาไทยแตกต่างกันด้วย
                5.  ปัจจัยด้านรัฐต่อการศึกษาไทย ปัจจัยสำคัญของการศึกษาไทย ขึ้นอยู่การกำหนดทิศทาง นโยบาย และแผนการดำเนินงานของภาครัฐในการพัฒนาการศึกษาไทย
การศึกษามีความสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากรตลอดจนไปถึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะทำการพัฒนาส่วนใดต้องเริ่มมาจากการพัฒนาคนเสียก่อน การพัฒนาประเทศต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาคนโดยต้องคำนึงถึงการศึกษาเป็นสำคัญ วิกฤติต่างๆ   ที่เกิดขึ้นล้วนโยงใยถึงกันเป็นลูกโซ่ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นในด้านใดด้านหนึ่งของสังคมนั้นหมายถึงว่า ผลพวงจากวิกฤตินั้นย่อมกระทบต่อระบบในสังคมนั้นด้วย เช่น บ้านเมืองปัจจุบันเกิดภาวะวิกฤติ เพราะเป็นผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจทรุดตัว นักการเมือง บุคคลในสังคมหวังเพื่อจะกอบโกยผลประโยชน์เป็นส่วนตัวมากขึ้น ประชาชนอดอยากมากขึ้น     จึงเป็นภาวะวิกฤติทางสังคมเมื่อบุคคลในสังคมมีมากขึ้นความเห็นแก่ตัวมากขึ้น  สภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงไม่มีคนเอาใจใส่ดูแลจนเกิดเป็นภาวะวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม  ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องนำกระบวนทัศน์ทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ในขณะนี้  (OK nation.net., ม.ป.ป.) 
จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้รายงานจึงเรียบเรียงบทความ เรื่อง  พุทธศึกษากระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำเสนอแนวคิดในการจัดการศึกษาโดยนำพุทธธรรม มาเป็นแม่บทในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นผู้สร้างสันติสุข ความเจริญงอกงามให้แก่ประเทศชาติและสังคมโลก

วัตถุประสงค์
เพื่อนำเสนอแนวคิดในการจัดการศึกษาโดยนำพุทธธรรม มาเป็นแม่บทในการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นผู้สร้างสันติสุข ความเจริญงอกงามให้แก่ประเทศชาติและสังคมโลก

นิยามศัพท์
กระบวนทัศน์ (Paradigm) หมายถึง ชุดของแนวคิด  การรับรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนการปฎิบัติร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ชุมชนหนึ่ง จนเกิดเป็นแบบแผนของทัศนะเฉพาะเกี่ยวกับความจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และชุดแนวคิดนั้นมีฐานเป็นแม่บทของความคิดหรือแนวปฎิบัติของกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง (ราชบัณฑิตยสถาน., 2555)
การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) หมายถึง การพัฒนาที่ประสานและเกื้อกูลกันระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่ มนุษย์ สังคมและธรรมชาติ

กรอบแนวคิด: พุทธศึกษากระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน 


  


2.  พุทธศึกษา : กระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน                
 
                  พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติที่ได้หล่อหลอมเป็นวิถีดำเนินชีวิตของคนไทยมาช้านาน  พระธรรม  หมายถึง ธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำออกเผยแผ่ หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของทุกข์และวิธีการดับทุกข์  ซึ่ง ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นแต่เริ่มสืบทอดกันด้วยวิธีท่องจำแบบปากต่อปาก เรียกว่า            "มุขปาฐะ" สมัยต่อมา      จึงได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร (วิกิพีเดีย: 2556)  คัมภีร์ที่บันทึกพระธรรมของพระพุทธเจ้านั้น  เรียกว่า พระไตรปิฎก หมายถึงคัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธ ศาสนา จำนวน  ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  และพระอภิธรรมปิฎก  พระอรรถกถาจารย์ กล่าวว่า  พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์  แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐    พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐       พระธรรมขันธ์  (ป.อ.ปยุตโต: 2545) จากสภาพปัญหาด้านสังคม  เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาและวัฒนธรรม   วิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติในหลายๆด้าน  นักปราชญ์ไทย เช่น  ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี  ท่านพุทธทาสภิกขุ พระเทพเวที พระราชวรมุนี  พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)              สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และเอกวิทย์ ณ ถลาง เป็นต้น  เห็นควรให้นำพุทธปรัชญาการศึกษามาใช้เป็นปรัชญาการศึกษาของไทย  ตามพุทธวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นถึงความจริงหรือสัจธรรมในหลักไตรลักษณ์ ซึ่งได้แก่  1) อนิจจัง คือ ความเป็นของไม่เที่ยง  2)  ทุกขัง คือ ความเป็นทุกข์  3)  อนัตตา คือ ความเป็นของไม่ใช่ตน (Baanjomyut.com., 2543)  ดังนี้ 

2.1  พุทธปัญญาการศึกษาตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ 
จุดมุ่งหมายของการศึกษา  มี 3 ประการ คือ
                1.  เพื่อดับทุกข์ทั้งปวงให้หมดสิ้น คือทุกข์ที่เกิดจากกิเลสเพราะการศึกษาในพุทธศาสนา หมายถึง การสามารถทำให้บุคคลเอาชนะโลกนี้ทั้งหมด (ไม่ต้องการลาภยศทางวัตถุใดๆ) เอาชนะโลกอื่นทั้งหมด (ไม่ต้องการไปเกิดในชาติอื่น) และทำให้อยู่เหนือโลกทั้งปวง (ดับกิเลสโดยสิ้นเชิงไม่เกิดในโลกไหนอีกต่อไป)
                2.  เพื่อส่งเสริมศีลธรรมทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ คือ สร้างความถูกต้อง   เพื่อความก้าวหน้าทั้งทางวัตถุและจิตใจ ต้องชี้ให้เห็นถึงความสุข อย่างคือ ความสุขทางกาย  ซึ่งยิ่งเสพยิ่งต้องการมากและทำความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น กับความสุขทางจิต ซึ่งยิ่งแสวงหาเท่าไรยิ่งทำความร่มเย็นให้มากเท่านั้น
                3.  เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม คือขจัดความเห็นแก่ตัวและร่วมมือกันเสริมสร้างสันติสุขในชุมชนและในโลก โดยให้จุดมุ่งหมายทั้ง 3 ข้อนี้ ไปใช้ในการจัดการศึกษาในโรงเรียน พร้อมทั้งยึดหลักพุทธศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา หัตถศึกษา
หน้าที่ของการศึกษาและหน้าที่ครู มี 2 ประการ คือ
                1.  หน้าที่ในการถ่ายทอดศิลปวิทยา ได้แก่ วิชาชีพตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรม ทางวิชาการ ซึ่งหมายถึงถ่ายทอดให้นักเรียนได้รู้จริง มีความใฝ่รู้ที่จะค้นคว้าให้รู้มากขึ้น มีการเพิ่มพูนหรือทำให้งามขึ้นและนำไปประกอบอาชีพได้ หรือสร้างความเป็นเลิศทั้งด้านสติปัญญาและเลิศในประโยชน์ของสังคมประเทศชาติ
                2.  หน้าที่ในการชี้แนะให้รู้จักการดำเนินชีวิตที่ดีงามถูกต้อง และการฝึกฝนพัฒนาตนให้สมบูรณ์ เช่น การทำให้คนมีแรงจูงใจที่ถูกต้อง (ฉันทะ) ในการศึกษา การสร้างจิตสำนึก ในการศึกษาโรงเรียนวิถีพุทธ
                วิถีพุทธ หมายถึง แนวทางดำเนินชีวิตแบบชาวพุทธ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบชาวพุทธ  โดยมีหลักธรรมที่เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นวิถีชีวิตแบบพุทธ นั่นคือ มรรคมีองค์แปด สรุป ลงในไตรสิกขาได้ดังนี้   สัมมาทิฐิความเห็นชอบ, สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ, สัมมาวาจาวาจาชอบ, สัมมากัมมันตะการกระทำชอบ,  สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพชอบ, สัมมาวายามะพยายามชอบ, สัมมาสติระลึกชอบ, สัมมาสมาธิ-ตั้งจิตชอบ  (Baanjomyut.com., 2543) 
                โรงเรียนวิถีพุทธ หมายถึง โรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักไตรสิกขาเพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยภาวนา 4 คือ พัฒนาการทางกาย สังคม จิต และปัญญา โรงเรียนพัฒนา ผู้เรียนตามหลักพุทธธรรมอย่างบูรณาการส่งเสริมให้เกิดปัญญาวุฒิธรรม 4 ประการ คือ  1. การอยู่ใกล้คนดี ใกล้ผู้รู้ มีสื่อที่ดี  2. เอาใจใส่ศึกษาโดยมีหลักสูตรที่ดี   3. มีกระบวนการคิด วิเคราะห์ พิจารณาหาเหตุผลที่ดีและถูกวิธี   และ 4. ความสามารถที่จะนำความรู้ไปใช้ในชีวิตได้ถูกต้อง      ตามหลักธรรม (Baanjomyut.com., 2543)
                กล่าวโดยสรุป  พุทธปัญญาการศึกษาตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ มีจุดมุ่งหมาย    เพื่อการดับทุกข์ทั้งปวงให้หมดสิ้น  เพื่อส่งเสริมศีลธรรมทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์  และเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม โดยชี้แนะหน้าที่ของการศึกษาและหน้าที่ครูในการถ่ายทอดศิลปวิทยา การชี้แนะให้รู้จักการดำเนินชีวิตที่ดีงามถูกต้อง และการฝึกฝนพัฒนาตน ให้สมบูรณ์ ตามหลักไตรสิกขาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยภาวนา  4   คือ พัฒนาการทางกาย สังคม จิตและปัญญา
2.2  พุทธปรัชญา (Buddhism)
                พุทธปรัชญาการศึกษา มาจากคำว่า Buddhishic Philosophy of Education ซึ่งได้แนวคิด มาจากพระพุทธศาสนา (Buddhism) จากพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธจ้า และปรัชญาการศึกษาอื่นๆ การศึกษาในพุทธปรัชญา คือ การศึกษาเพื่อให้เข้าใจความจริง เข้าใจความหมาย  ของชีวิต ทั้งดำรงชีวิตให้สอดคล้องสัมพันธ์กับความจริง พุทธปรัชญา ได้นำหลักเหตุและผลไปวิเคราะห์และอธิบายความจริงและความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายในโลก ได้ชี้แนะให้ทราบว่าอะไรคือความเป็นเลิศ หรือความดีที่พึ่งปรารถนาในชีวิต และจะศึกษาปฏิบัติให้เป็นผลได้อย่างไร  (Baanjomyut.com., 2543)  พุทธปรัชญา หมายถึง ความรู้อันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วหรือพุทธธรรม 
ความเป็นมาของพุทธปรัชญา
                โลกและชีวิตเป็นอนิจจังไม่มีอะไรแน่นอน มนุษย์จึงไม่ควรติดอยู่กับวัตถุหรือมุ่งแสวงหาแต่ความสุขทางวัตถุ เพราะชีวิตแท้จริงแล้วเป็นทุกข์ เพราะประกอบด้วยสิ่งต่างๆ อันเป็นของไม่เที่ยง คือ ขันธ์ห้า  ได้แก่  1) รูป คือ ร่างกาย รวมทั้งคุณสมบัติและพฤติกรรมทั้งปวง  2)  เวทนา คือ อารมณ์ทุกข์และสุขของมนุษย์  3)  สัญญา คือ การเรียนรู้ ความจำ  4)  สังขาร คือ องค์ประกอบทางจิตที่คอยปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่ว ได้แก่ เจตคติ ค่านิยม ความตั้งใจ ความสนใจ ซึ้งประกอบกันขึ้นเป็นแรงขับให้มีการกระทำ  5)  วิญญาณ คือ การรับรู้เกิดจากประสาทสัมผัสโดยตรง  มนุษย์เป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตนที่แท้จริงที่เห็นว่าเป็นตัวตนอยู่นี้ก็เพราะว่าองค์ประกอบทั้ง 5 มารวมกันอยู่ในกระแสแห่งการเกิดดับ ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิจสมุปบาท คือ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกฎเหตุและผลหรือเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ 
                พุทธปรัชญาการศึกษา คือ การพัฒนาขันธ์ห้า  เพื่อให้ความโง่เขลาของผู้เรียนลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด และให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นคนเก่ง คนดี และคนมีความสุขในโลกปัจจุบัน และอนาคต
(Baanjomyut.com., 2543)
2.3  พุทธปรัชญาการศึกษาตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี 
ความมุ่งหมายของการศึกษาตามแนวพุทธปรัชญา  มี  4  ประการ คือ 
                1.  ความมุ่งหมายเกี่ยวกับตัวผู้เรียน การศึกษาจะต้องมุ่งพัฒนาโลภ โกรธ หลง ให้ลดลงและพัฒนาความรู้ ความจำ นิสัย และอื่นๆ ในทางที่เหมาะสม
                2.  ความมุ่งหมายเกี่ยวกับสังคม  การศึกษาต้องช่วยพัฒนาสังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาซึ่งถ้าเข้าใจพุทธปรัชญาในไตรลักษณ์  อิทธิบาท 4 แล้วจะเข้าใจสังคมได้ดีขึ้นและไม่ตกใจไปกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม
                3.  ความมุ่งหมายเกี่ยวกับลักษณะของการเรียนรู้ การศึกษาพัฒนาวิธีคิด และการใช้เหตุผลในตัวผู้เรียนเพื่อให้สามารถนำความรู้ไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างผู้มีปัญญา
4.  ความมุ่งหมายเกี่ยวกับความร่มเย็นของชีวิตมนุษย์ทั่วไป การศึกษาต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เกิดความร่มเย็นแก่ชีวิตในสังคม 
นโยบายการศึกษาตามแนวพุทธปรัชญา  มี ประการ คือ
                1.  การจัดการศึกษาเพื่อนสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นนโยบายประชาธิปไตย เพราะ พุทธปรัชญาเป็นปรัชญาประชาธิปไตย เช่นพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า บุคคลแต่ละคนไม่เหมือน กันเปรียบเสมือนดอกบัว 4 เหล่า
2.  การจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการแบ่งปัน
3. การจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
หลักสูตรตามแนวพุทธปรัชญา 
                จุดมุ่งหมายที่สำคัญของหลักสูตร คือ การพัฒนาขันธ์ 5 คือ
                1.  เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีร่างกาย สุขภาพ พลานามัยที่แข็งแรง สมบูรณ์ สมส่วนคล่องแคล่วว่องไว มีพัฒนาการทางด้านร่างกายตามวัยและได้มาตรฐานสากล
                2.  เพื่อพัฒนาผู้เรียนในด้านความรู้สึกโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีพัฒนาการไปตามลำดับขั้น
                3.  เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีสติปัญญา ความรู้ และความสามารถ และการเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับตนเอง สังคมและโลก และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขในปัจจุบันและอนาคต
                4.  เพื่อพัฒนาแรงขับและคุณสมบัติทางจิตใจของผู้เรียน ได้แก่ อารมณ์ เจตคติ คุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม
                5.  เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีจิตสำนึกทั้งในทางกาย ทางวาจา และทางใจ (การคิด)
เนื้อหาของหลักสูตรตามแนวพุทธปรัชญา 
                1.  มีเนื้อหาวิชาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเกี่ยวกับการพัฒนาด้านร่างกาย ได้แก่ วิชา คหกรรมศาสตร์ วิชาพลานามัย วิชาสุขศึกษา เป็นต้น
                2.  ควรมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสริมสร้างและฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรง เช่นวิชาพลศึกษา การกีฬา นันทนาการ เป็นต้น
                3.  ควรมีเนื้อหาด้านการพัฒนาความรู้สึกนึกคิดได้แก่ วรรณคดี ภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์   ภูมิศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ชีววิทยา และนิเวศวิทยา เป็นต้น
                4.  ควรมีเนื้อหาด้านการพัฒนาความคิดและการใช้สมอง ได้แก่ วิชาวรรณคดี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
                5.  ควรมีเนื้อหาด้านการพัฒนาอารมณ์ เจตคติ คุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม ได้แก่ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี เป็นต้น 6. ควรมีเนื้อหาด้านการพัฒนาจิตสำนึกและการใช้เหตุผลทั้งทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ ได้แก่ วิชาศีลธรรม จริยธรรม และสุนทรียภาพ สังคมศึกษา สังคมวิทยา สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติศึกษา เป็นต้น
การเรียนการสอนตามแนวพุทธปรัชญา   
วิธีสอน  แม่บทสำหรับโรงเรียน ต้องใช้วิธีการแห่งปัญญา คือ สอนตามหลักอริยสัจสี่ ซึ่งตรงกับวิธีการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ 
                
ตารางที่ 1    เปรียบเทียบขั้นตอนการสอนแบบอริยสัจสี่กับวิธีการแก้ปัญหา(วิทยาศาสตร์)  
การสอนแบบอริยสัจสี่
การสอนแบบแก้ปัญหา
1. ศึกษาปัญหา (ขั้นทุกข์)
2. การแยกแยะสาเหตุของปัญหา (ขั้นสมุทัย)
3. การเลือกแนวทางปฏิบัติ (ขั้นนิโรธ)
4. สรุปแนวทางปฏิบัติ (ขั้นมรรค)

1. การกำหนดปัญหา
2. การตั้งสมมติฐาน
3. การเก็บและรวบรวมข้อมูล
4. การวิเคราะห์ข้อมูล
5. การสรุปผล

                วิธีการสอนต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรและสภาพของผู้เรียน ดังนั้นจะยึดหลักปฏิบัติตามอริยสัจสี่ และมรรคแปด ดังนี้
                1.  ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข
                2.  ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยวิธีการแก้ปัญหาและการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งวิธีการเรียนเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม
                3.  คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน
                4.  จัดสภาพภายในห้องเรียนและบริเวณสถานศึกษาและสภาพแวดล้อมภายนอกให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และการเรียนด้วยตัวเอง  ส่งเสริมการมีวินัยในตนเองและการมีสมาธิของผู้เรียนแต่ละคนและการเรียนเป็นกลุ่มในบางครั้งตามความเหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเป็นคนดีในหมู่คณะ รู้จักแบ่งปัน และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมซึ่งส่งผลต่อการเป็นพลเมืองดีของชาติ รู้จักเสียสละ แบ่งปัน การให้ และการมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยต่อไป
                5.  ให้ความสำคัญกับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเป็นรายบุคคล และต้องส่งเสริมเด็กเรียนเก่งให้เจริญงอกงามทั้งความรู้สึกและสติปัญญา
                6.  คิดหาวิธีสอน และกิจกรรมและประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งในและนอกห้องเรียน และสอดคล้องกับสื่อและเนื้อหา ความรู้และทักษะของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้
ผู้สอน- ครูตามแนวพุทธปรัชญา 
                1.  เป็นผู้ให้วิทยาการ(สิปปทายก) ได้แก่ การให้ความรู้ทางวิชาการและการประกอบอาชีพแก่ผู้เรียนรวมถึงต้องหมั่นค้นคว้าและหาความรู้
                2.  มีหน้าที่ชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง(กัลยาณมิตร) คือสอนให้รู้จักคิด  มองความหมายของสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง รู้ตักแสดงออกอย่างมีเหตุผล มีความรับผิดชอบและรู้จักดำเนินชีวิตที่ดี
ผู้เรียนตามแนวพุทธปรัชญา 
1.             เป็นผู้ที่มีความเคารพและศรัทธาต่อครู
2.             เป็นผู้รับฟังคำแนะนำของครู
3.             เป็นผู้ที่มีความพร้อมและมีวุฒิภาวะ รู้จักใช้เหตุผลและคุณธรรมในการตัดสินใจ
การวัดและประเมินผลตามแนวพุทธปรัชญา 
1.             โดยวัดผลจากการกระทำของนักเรียน ด้วยการสังเกตพฤติกรรม
2.             ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนของนักเรียน   (Baanjomyut.com., 2543)
กล่าวโดยสรุป  พุทธปรัชญาการศึกษาตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี     มีความมุ่งหมาย  เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่ลดละความโลภ โกรธ หลง และพัฒนาความรู้ ความจำ เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม  เพื่อพัฒนาวิธีคิดและการใช้เหตุผลในตัวผู้เรียนให้สามารถนำความรู้ไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างผู้มีปัญญา  เพื่อให้เกิดความร่มเย็นแก่ชีวิตในสังคม  โดยกำหนดนโยบาย  หลักสูตร วิธีสอนแบบอริยสัจสี่  บทบาทหน้าที่ของครูผู้สอน  ผู้เรียน และการวัดประเมินผลการศึกษาตามแนวพุทธปรัชญาชัดเจนทุกขั้นตอน
จากที่กล่าวมา สรุปได้ว่า  พุทธศึกษา : กระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Buddhism: A paradigm of sustainable development.) เป็นแนวคิดในการจัดการศึกษาโดยนำพุทธธรรมมาเป็นแม่บทในการจัดการศึกษา เป็นกระบวนการพัฒนาที่ประสานและเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์  สังคมและธรรมชาติ ทำให้บุคคลแสวงหาความรู้ ความสามารถในการพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นผู้สร้างสันติสุข ความเจริญงอกงามให้แก่ประเทศชาติและสังคมโลก   



3.  บทวิเคราะห์/ข้อเสนอแนะ    
 
                         ปัญหาทุกปัญหาที่สังคมโลกและทุกประเทศ รวมถึงสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่นั้น เป็นบทเรียนราคาแพงที่ทุกคนได้รับ  สาเหตุที่แท้จริงของทุกปัญหานั้นมาจากเหตุเพียงเหตุเดียว คือ ความด้อยคุณภาพของประชากร ทั้งระดับครอบครัว ระดับสังคม ระดับชาติ จำนวนประชากรที่มีคุณภาพต่ำเป็นจำนวนมากในสังคมเหล่านั้น  (OK nation.net., ม.ป.ป.) ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องทำทุกวิถีทางที่จะสร้างคุณภาพที่สูงขึ้นไปแก่ประชาชนในสังคมไทย  ปัญหาต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้  เช่นปัญหาเศรษฐกิจ  ปัญหาสังคม ก็เกิดจากฝีมือของคนเห็นแก่ตัว  หวังเพื่อประโยชน์ส่วนตนทั้งสิ้น  โดยไม่มองถึงความเดือดร้อนของคนอื่น  เห็นความเดือดร้อนของคนอื่นเป็นเรื่องไกลตัว  แต่ถ้าคนเราแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้  มองว่ามนุษย์เท่าเทียมกัน  และคนเหล่านี้ไม่เอาเปรียบกันมีจิตสำนึกดี เชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นในสังคมคงจะหายไป เพราะฉะนั้นคนที่เอาเปรียบคนอื่น หรือเห็นแก่ตัวควรจะมองปัญหาสังคม  และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้เสีย แล้วปัญหาต่าง ๆ  ก็จะไม่ตามมา    จะแก้ไขปัญหาง่ายมาก  เพียงแค่คนมีจิตสำนึก รู้จักคำว่า "หน้าที่ และมีวินัย " ปัญหาต่าง ๆ ก็คงไม่เป็นแบบวันนี้ และคงไม่ฝังรากจนเติบโตจนยากแก่การแก้ไข แต่ถ้าคิดจะแก้ไขก็คงไม่สายถ้าคิดจะทำ กระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และอิทธิพลของโลกาภิวัฒน์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและบุคคลในสังคม ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และค่านิยม ควรที่ทุกฝ่ายทั้งอาณาจักร และศาสนจักรต้องประสานร่วมมือกันป้องกันแก้ไขปัญหาในระบบสังคม ค่านิยม อุดมการณ์ รวมทั้งคุณธรรม จริยธรรม และร่วมกันปลูกจิตสำนึกบุคคลในสังคมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมมากขึ้น การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการนำเอาหลักธรรมทางศาสนาประยุกต์เข้ากับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตเยาวชนผู้เป็นประชากรใหม่ของสังคมในยุคต่อๆไป โดยสถาบันครอบครัวมีอิทธิพล ต่อเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถาบันแรกที่ให้การอบรมทางด้านจิตใจ ให้ความรัก ความอบอุ่น เอาใจใส่ดูแล ทะนุถนอม ปกครองดูแลอย่างถูกต้องแล้วก็จะสามารถให้เยาวชนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพและคุณธรรมได้อย่างแน่นอน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาให้กับสังคม ส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข เพราะเยาวชนในวันนี้ก็คือผู้นำและพัฒนาสังคมประเทศชาติในวันข้างหน้า  
                พระธรรมปิฎก(..ปยุตโต) ได้แสดงปาฐกถาธรรม เรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า จากการที่การพัฒนาของโลกได้ทำให้ผู้คนประสบปัญหาสังคมและจิตใจมาตามลำดับ จนกระทั่งมาเจอปัญหาสภาพแวดล้อมเข้าจึงทนไม่ไหว ทำให้ต้องคิดเปลี่ยนแปลงวิธีการและกระบวนการ พัฒนากันใหม่แล้วก็เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น ปัญหาสามเส้า คือ  1. ผลาญของดี  ให้หมดไป  2. ระบายของเสียใส่ให้แก่โลก  3. ประชากรยิ่งมากขึ้น ปัญหาทั้งด้านผลาญของดีและระบายของเสียก็ยิ่งแรงหนักขึ้น  (Trueplookpanya.com., ม.ป.ป.)  ฉะนั้น เราควรศึกษาและมองหาแนวทางที่ถูกต้องจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น หลักการพัฒนามนุษย์โดยใช้หลักของไตรสิกขา โดยพัฒนามนุษย์ให้ครบทั้งสามด้านคือ  1. ด้านพฤติกรรมและวิธีใช้ชีวิต (ศีล) ตลอดจนการทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นระดับที่ปรากฎตัวของการแก้ปัญหา   2. ด้านจิตใจ (สมาธิ) เช่น พัฒนาคุณธรรม ความเข้มแข็งมั่นคงของจิตใจ และสภาพจิตใจที่ดีงาม รวมทั้งมีความสุข  3. ด้านปัญญา (ปัญญา) หรือปรีชาญาณ คือความรู้ความเข้าใจต่าง ๆ รวมทั้งแนวความคิด ทัศนคติ และค่านิยม  จะเห็นได้ว่า หากเรามุ่งพัฒนาแต่ทางด้านวัตถุ ไม่มุ่งพัฒนาในตัวของมนุษย์แล้ว ถือว่าเป็นการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน ก่อให้เกิดปัญหาทั้งในระดับส่วนบุคคล มีความเครียด ความวิตกกังวล สุขภาพกายและจิตใจเสื่อม ในระดับสังคม มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน มีการเอารัดเอาเปรียบกัน มีอาชญากรรม ทุกรูปแบบ ในระดับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ถูกทำลายล้าง ทำให้เสียสมดุลธรรมชาติ เกิดมลภาวะทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพราะมีการพัฒนาที่ผิดพลาด โดยเน้นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์หรือตัณหา ความอยากที่ไม่สิ้นสุดนี้จึงคิดที่จะนำเอาธรรมชาติมาสนองความต้องการ  ของมนุษย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงผิดทางเน้น มานะ โดยการข่มเหงเอาชนะคนอื่น ทำให้สังคมศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งการเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ และเน้น ทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีความสุขที่ต้องมีรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสให้มากที่สุด พิสดารไม่มีขอบเขต ทำให้มนุษยศาสตร์เป็นเพียงสิ่งปลอมสิ่งกล่อมประโลมใจ ไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างถึงที่สุด (Trueplookpanya.com., ม.ป.ป.)        ในการพัฒนาที่ผ่านมาถือหลักความเชื่อที่ว่า หลักความเชื่อในความเฉลียวฉลาดสามารถของมนุษยชาติ ที่ได้สรรสร้างภูมิปัญญา มีความก้าวหน้าจนสามารถแก้ปัญหาและเอาชนะธรรมชาติได้ตลอดมา ได้สร้างความรู้ เทคโนโลยี สร้างอารยธรรมไว้ยิ่งใหญ่ และหลากหลาย จนทำให้มนุษย์เป็นนายเหนือธรรมชาติ เป็นเจ้าของสรรพสิ่ง สามารถเอาทรัพยากรทุกอย่างมาสนองความต้องแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ไม่รู้จบ  ฉะนั้นการศึกษาจึงควรมุ่งพัฒนา ให้คนมีความรู้ความสามารถยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อปัญหาที่ยากขึ้น แก้ปัญหาได้มากเท่าไร ก็มีความสุขมากขึ้นเท่านั้น  “ หลักความเชื่อในลักษณะนี้ เป็นหลักความเชื่อที่เกิดจาก ตัณหา มานะ และทิฏฐิ เป็นหลักความเชื่อในที่ส่งต่อการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่มุ่งเน้นหลักความเชื่อที่ว่า หลักความเชื่อความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ ท้ายที่สุดมนุษย์ถึงจะเก่งอย่างไร มนุษย์ก็ไม่อาจพิชิตธรรมชาติได้ เพราะมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์อวดเก่งมาก ๆ  เอาเปรียบธรรมชาติมากเกินไป ธรรมชาติก็จะตอบโต้ลงโทษมนุษย์อย่างรุนแรงทุกครั้ง เช่น ภัยธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น ฉะนั้นมนุษย์ถึงจะเก่งกว่าสัตว์อื่นใด ก็ไม่ควรประมาท ทางที่ดีที่สุด มนุษย์ควรปรับตัวให้ดำรงอยู่ผสมผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ คงดุลยภาพไว้ให้ยั่งยืน  เพื่อมนุษย์ สรรพสัตว์ สรรพสิ่งทั้งหลายจะได้มีสันติยั่งยืน(Trueplookpanya.com., ม.ป.ป.)   พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติ มีชีวิตที่เจริญรุ่งเรือง พัฒนาสังคม ประเทศชาติให้เจริญพัฒนามีมากมายครับ เพราะฉะนั้นมองอะไรอย่ามองด้านเดียว ต้องมองอย่างขึ้นที่สูงมอง หรือต้องมองอย่างนกมอง (bird's eye view) คำว่าสันโดษนี้ อาจได้แปลว่า "พอความพอความรู้จักพอคนรู้จักพอ จึงจะเป็นคนร่ำรวย คนไม่รู้จักพอจึงเป็นคนจนอยู่ตลอดกาล คนไม่รู้จักพอ จึงเท่ากับเป็นคนมีไม่พอ พอไม่มีนั่นเอง หากบุคคลในสังคมมีคำว่าพอแล้วย่อมไม่ก่อสร้างปัญหาใดๆ ให้กับสังคม ชุมชน และประเทศชาติ  (OK nation.net., ม.ป.ป.)
                การศึกษา คือการสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นมีลักษณะ นิสัยจิตใจที่ดีงาม มีความพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อตนเองและสังคม มีความพร้อมที่จะ ประกอบการงานอาชีพ ได้ การศึกษาช่วยให้คนเจริญงอกงาม ทั้งทางปัญญา จิตใจ ร่างกาย และสังคม การศึกษา   จึงเป็นความจำเป็นของชีวิต เพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพยิ่งมีความจำเป็นมากที่สุด  (Phramaha ariyadhammo, ม.ป.ป.หลักการพัฒนาคนตามแนวพุทธศาสตร์นั้นมีลักษณะเป็นกระบวนการ พัฒนาปัญญามีความครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งเหตุ ปัจจัย องค์ประกอบ กระบวนการ และผลที่ประจักษ์ มีลักษณะบูรณาการสอดคล้องกลมกลืนได้สัดส่วนสมดุลนำไปใช้ได้ในชีวิต 

บรรณานุกรม


คณิภา ธุระธรรม. (14 มีนาคม 2555). ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทย และการศึกษาไทย
                ในอนาคต. ค้นคืนวันที่  06 กรกฎาคม 2556.
                จาก http://www.learners.in.th/blogs/posts/516899
จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร. (2540)สวัสดิการสังคมทางแก้วิกฤตสังคมไทย . กรุงเทพฯ : บริษัท
                ฟ้าอภัย.
พระธรรมปิฎก (.ปยุตโต). (2539)ธรรมกับการพัฒนาชีวิต . กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม.
________. (2539). พุทธวิธีแก้ปัญหา เพื่อศตวรรษ 21. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพุทธธรรม.
________. (2540). ธรรมนูญชีวิต. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์กรมการศาสนา.
________. (2542). พระพุทธศาสนาพัฒนาคนและสังคม. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์  กรมการศาสนา.
________. (2545). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. วันที่  6 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 
ค้นคืนข้อมูลวันที่ 2 ตุลาคม 2556  จาก http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/
ภาพพระพุทธเจ้า/พระไตรปิฎก. ค้นคืนวันที่  24 กรกฎาคม  2556.
                จาก  http://th.wikipedia.org/wiki/ และ http://www.google.com/search?
ราชบัณฑิตยสถาน. (2555). ศัพท์ศึกษาศาสตร์. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์.
วิกิพีเดีย สารนุกรมเสรี. (ม.ป.ป.) พระธรรมของศาสนาพุทธ ค้นคืนวันที่ 2 ตุลาคม 2556
สมพร สุขเกษม(2542). ความจริงของชีวิต. กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(2530). สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์กรุงเทพฯ :
                โรงพิมพ์กรมศาสนา.
Baanjomyut.com. (2543). ปรัชญาการศึกษา: พุทธปรัชญา (Buddhism). ค้นคืนวันที่  23 กรกฎาคม
                2556. จาก  http://www.baanjomyut.com/library_2/educational_philosoph/06.html
OK nation.net. (ม.ป.ป.). พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาสังคม.  ค้นคืนวันที่  23 กรกฎาคม  2556.               จาก  http://www.oknation.net/blog/print.php?id=763241
Phramaha ariyadhammo. (ม.ป.ป.). หลักการจัดการศึกษาตามแนววิถีพุทธ. ค้นคืนวันที่ 23
                กรกฎาคม  2556. จาก http://www.learners.in.th/blogs/posts/420235
Trueplookpanya.com. (ม.ป.ป.). พระพุทธศาสนากับการพัฒนาที่ยั่งยืน.  ค้นคืนวันที่  23 กรกฎาคม
                2556.  จาก http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/24361-036352.



ภาคผนวก

กรอบแนวคิด: พุทธปัญญาการศึกษาตามแนวคิดของท่านพุทธทาสภิกขุ 



กรอบแนวคิด: พุทธปรัชญาการศึกษาตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี      


กรอบแนวคิด: การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดของพระธรรมปิฎก (.ปยุตโต) 
  

................................................................................................................

New Paradigm1