วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ย่านลิเภา ผลิตภัณฑ์ OTOP ของ...ชาวนครศรีธรรมราช



ย่านลิเภา
ต้นตำรับ   ผลิตภัณฑ์  OTOP 
ของ...ชาวนครศรีธรรมราช

(YanLiPhao: The Original OTOP products of Nakhon Si Thammarat)

โดย...จริยา    ทองหอม




บทนำ  

        “... ย่านลิเภานี้เป็นศิลปะเก่าแก่ของบรรพบุรุษเรา แล้วก็วัตถุดิบก็เกิดขึ้นเองภายในประเทศคือ ทางภาคใต้ที่ฝนตกมากตัวย่านลิเภานั่นก็คือเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นเอง รกโดยธรรมชาติ ใต้ต้นยาง ใต้สวนยาง ปิดดินให้ชุ่มชื้น และที่ภาคใต้ใช้ได้ดีเพราะว่าฝนตกมาก ทำให้เกิดความเหนียว ทำให้เส้นเหนียว และอยู่ได้เป็นร้อยปี อันนี้ที่คนญี่ปุ่นบอกว่าเป็นลักษณะพิเศษของย่านลิเภา ถ้าแม้นว่าทิ้งให้แก่กับต้นแล้ว ใยของเขาจะเหนียวอยู่ได้เป็นร้อยปี โดยที่ไม่มีตัวแมลงมากัดกินเลย เพราะฉะนั้นพูดได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเมืองไทย... ”

                                                             

พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ   11  สิงหาคม  2524
ที่มา  ผู้จัดการออนไลน์  ย่านลิเภา  สาระสังเขปออนไลน์   
จากเว็บไซต์  http://www.lcc.ac.th/forum/board_posts.asp?FID=187  สืบค้นวันที่  8 กันยายน  2552



ย่านลิเภาคืออะไร
       ย่านลิเภา   คำนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำมาจากภาษามลายูว่า  ลิบู  ซึ่งแปลว่า จิ้งจก เพราะใบของลิเภา มีลักษณะเป็นหยักคล้ายตีนจิ้งจกก็อาจเป็นได้ ลักษณะโดยทั่วไปของลิเภา ก็คือ เป็นเถาขนาดเล็ก เลื้อยเกาะต้นไม้อื่นในป่า หรือสุมทุมพุ่มไม้ เป็นสายระโยงระยางไปทั่วบริเวณป่า   เมื่อสดเถาจะมีสีเขียว   เมื่อเด็ด หรือตัดวางให้แห้งจะเป็นสีน้ำตาล ใบมีลักษณะเป็นหยักยาว โคนใบใหญ่ ปลายใบเล็กเรียวแหลม เส้นในเป็นเส้นนูน ริมใยเป็นหยักๆ ฟันปลาถี่ละเอียดทั้งสองข้าง เถาหนึ่งๆ มักมี 4-6 ใบ แต่ละเถายาวประมาณ 1-2 เมตร มีขนาดโตเท่าก้านไม้ขีดไฟ  เถานี้เองซึ่งชาวบ้านภาคใต้ตัดเอามาทำเป็นภาชนะเรียกว่า   "ย่านลิเภา"   
        ย่านลิเภา หรือลิเภา เป็นชื่อพืชจำพวกเฟิร์น  มีเถาเหนียว  คงทนมาก  ขึ้นงอกงามในป่าพรุทางภาคใต้  เคยนำมาจักสานเป็นเครื่องใช้  เช่น  กระเป๋าถือสตรี  หีบหมาก  แต่กำลังสูญหายไป สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดหาครูที่มีความสามารถจากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปสอนการจักสานย่านลิเภาให้แก่ราษฎรของจังหวัดนราธิวาส  ซึ่งมีย่านลิเภาขึ้นงอกงามมาก    การจักสานย่านลิเภาจึงค่อยๆขยายตัวกว้างขวางออกไปในท้องถิ่นต่างๆของจังหวัดนราธิวาส    นอกจากนี้ยังมีการฝึกสอน  การจักสานย่านลิเภา   ทั้งที่โรงฝึกศิลปาชีพ  สวนจิตรลดา และศูนย์ศิลปาชีพบางไทร  เพื่อผลิตกระเป๋าถือสตรีที่มีลวดลายงดงาม  ประดับตกแต่งบานพับหูหิ้ว  ทำด้วยถมทอง  ซึ่งเป็นงานของช่างถมทองอีกต่อหนึ่ง

การจักสานงานหัตถกรรมย่านลิเภา
         การจักสานย่านลิเภา  จะนำย่านลิเภาที่แห้งสนิทดีแล้วมาปอกเปลือกออก  ในการสานจะใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเปลือก  ส่วนไส้จะทิ้งไป  จากนั้นนำเส้นลิเภามาชักเลียด  โดยดึงผ่านโลหะซึ่งมีรู  ทำให้เส้นลิเภาถูกกลึงเรียบเสมอกันทั้งเส้น  การสานมีสองแบบ  คือ  แบบที่ต้องขึ้นรูป     เช่น  กระเป๋าครึ่งลูก  กระเป๋าทึบ  หมวก ฯลฯ  และแบบที่ต้องจักสานโดยไม่ต้องขึ้นรูป  เช่น  กำไล  ที่คาดผม  หวีสับ  ฯลฯ  หลังจากสานเป็นรูปเป็นร่างแล้ว  จึงลงน้ำมันเคลือบผิวชักเงา  ถ้าเป็นกระเป๋าต้องบุผ้ากำมะหยี่สีแดง  สีน้ำเงิน  สีน้ำตาล  และติดกระจกบานเล็กที่ฝากระเป๋าด้านในด้วย

รูปแบบงานหัตถกรรมย่านลิเภา
       งานหัตถกรรมย่านลิเภา   มี 2 แบบ   คือ 
       แบบทึบ   ใช้วิธีสอด และพันโดยการพลิกด้านหน้า และด้านหลังของเส้นลิเภา เพื่อทำให้เกิดลาย โดยจะมีวัสดุเพียงย่านลิเภา และหวาย 
       แบบโปร่ง ใช้วิธีขัด และยกลาย ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกับการทอผ้า คือจะมีดอกยืนและเส้นนอน 

ขั้นตอนการจักสานงานหัตถกรรมย่านลิเภา 
        กว่าเราจะได้ผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาสักชิ้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก   เพราะมีกรรมวิธีและขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่แพ้งานหัตถกรรมชนิดอื่น  ขั้นตอนการจักสานงานหัตถกรรมย่านลิเภา 



1.  เริ่มตั้งแต่นำย่านลิเภามาฉีกให้เป็นเส้น  แล้วนำไปแช่น้ำให้ชุ่ม



 2. นำขึ้นมาฉีกให้เป็นเส้นฝอยๆ  




3. นำฝากระป๋องนมมาเจาะ รู   ให้มีขนาดเรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กที่สุด  



 4. นำย่านลิเภาที่เป็นเส้นฝอยมารูดทีละช่องจนถึงช่องที่เล็กสุด จะได้ลิเภาเส้นเล็ก ทำทีละมากๆ   เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้โดยส่วนที่ยังไม่ใช้ให้ใส่ถุงพลาสติกแช่ในตู้เย็นเพื่อเก็บความชื้นไว้ จะง่ายต่อการสานเพราะเมื่อเส้นลิเภาแห้งจะสานได้ยาก



5. จากนั้นใช้หวายเป็นแกนนำในการสาน โดยนำฝากระป๋องนมมาเจาะ รู ให้มีขนาดเรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กสุด คนละอันกับฝากระป๋องนม สำหรับทำเส้นลิเภา






         6. เมื่อได้หวายตามขนาดที่ต้องการ  นำหวายมาขดเป็นวงรี  เพื่อทำก้นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์   นำเส้นลิเภาที่เตรียมไว้มาสานโดยใช้เหล็กปลายแหลมเจาะนำที่หวายให้เป็นรูแล้วนำเส้นลิเภาสอดเข้าไป โดยใช้วิธีสานสลับเดินหน้า เวลาสานมุมโค้งต้องใช้ความละเอียด สานจนได้ขนาดกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ตามต้องการ  เมื่อสานก้นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ขนาดที่ต้องการแล้ว นำหวายมาขดเป็น วงรีวางให้เหลื่อมกับก้นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ถ้าต้องการ ให้มีลวดลายใช้วิธีสานกลับด้านเส้นลิเภา ซึ่งจะมีสีอ่อนกว่าเล็กน้อย ระหว่างสาน ใช้มีดขูดเส้นลิเภาเพื่อเพิ่มความเรียบ  สำหรับการทำฝากระเป๋า การขึ้นต้นแบบเดียวกับการขึ้นก้นกระเป๋า เมื่อสานย่านลิเภาได้  2-3 รอบ วางเส้นหวายชั้นต่อไปให้เหลื่อมเหมือนเป็นชั้นลายพื้นก็ได้ สำหรับขนาดก็ขึ้นอยู่กับตัวกระเป๋า    ขอบฝาวางหวายในลักษณะเดียวกับการขึ้นก้นกระเป๋าให้มีขนาดกว้าง 1 นิ้ว สานหูกระเป๋าโดยใช้หวายเป็นแกน 2-3 เส้น สานลิเภาสลับกันให้เป็นลายขดกันให้เป็นเส้นโค้ง   เมื่อได้ตัวกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์แล้วนำไปกรุผ้าไหมหรือผ้ากำมะหยี่ขั้นตอนสุดท้ายนำไปติดเครื่องทองเหลือง  หรือถมทอง  ตรงที่เปิดปิดและบานพับด้านหลัง  
         ขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้ความพยายาม  ความอดทนอย่างยิ่งจึงจะได้มาซึ่งชิ้นงานสักหนึ่งชิ้นที่ทรงคุณค่าและประณีต

 การเลือกซื้อและดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา
       จังหวัดนครศรีธรรมราช    เป็นจังหวัดที่มีกลุ่มคนมีฝีมือด้านงานจักสานย่านลิเภาอยู่มาก จึงมีกลุ่มจักสานย่านลิเภาเกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชหลากหลายกลุ่ม    ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์และความงดงามโดดเด่นเฉพาะกลุ่มกันไป     เช่นที่    ห้างเพชรทองบุญรัตน์   และกลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านหนองบัว  ในเขตอำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช    ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งผลิตสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดในฐานะเป็น  OTOP  ระดับ 5 ดาว  

วิธีการเลือกซื้อ
       วิธีเลือกซื้อ  ดูวิธีขัดของเส้นลิเภา  งานที่ละเอียด  ช่องไฟจะมีความสม่ำเสมอ  เส้นลิเภาทั้ง
เส้นยืนและเส้นขัดต้องไม่เป็นคลื่น  ต้องราบเรียบเสมอกันตลอด  ถ้าผลิตภัณฑ์ชิ้นใด  ลวดลายสะดุดตา  เช่น  ดอกใหญ่  แสดงว่า  เป็นงานที่ค่อนข้างหยาบ  และควรดูความเรียบร้อยของการเก็บปลายด้ายด้วย

การดูแลรักษา
       สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาแต่ยังเกรงอยู่ว่าจะยากต่อการเก็บรักษามีเคล็ดลับ 
คือ  เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาไปใช้แล้วนั้นหลังใช้ให้เช็ดด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ นำมาผึ่งแดดประมาณ 20-30 นาที และเก็บใส่ถุงให้มิดชิดและอย่านำสิ่งของวางทับบนเครื่องจักสานย่านลิเภาเพราะจะทำให้เสียรูปทรงได้

ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า
สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา

ผู้ผลิตและสินค้า
(Producer & Products)
ที่อยู่
(Address)
โทรศัพท์
(Telephone)
1
197 หมู่ 5 บ้านหมน ถนนนครสงขลา ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
075 670354, 08 7893 4372
2
กลุ่มผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา
57 หมู่ 16 บ้านแคสูง ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
08 9588 2614
3
2 ถนนสุรินทร์ราชา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
075 345962, 08 1597 5540
4
1385/4 ถนนเนรมิต ตำบลคลัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
www.boonyarat.com
075 356196, 08 9474 3918
5
33 หมู่ 16 บ้านแคสูง ถนนนครศรีฯ-หัวไทร ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80290
075 670097
6
กลุ่มผลิตภัณฑ์ ย่านลิเภา
75/21 หมู่ 1 ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
075 346178
7
กลุ่มจักสานลิเภาบ้านยวลแหล
หมู่ 4 บ้านยวนแหล ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
075 356543
(พัฒนาชุมชนอำเภอ)
8
กลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านหนองบัว
145 หมู่ 7 ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
08 1968 6880

       การนำย่านลิเภามาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้หลักจากการทำผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาตกเดือนละหลายพันบาท ด้วยความที่มีคุณสมบัติพิเศษของย่านลิเภาคือ มีลำต้นเหนียว ทนทาน จึงเหมาะที่จะนำมาสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ เชี่ยนหมาก กระเป๋าหนีบ  เป็นต้น

บทสรุป
       จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกลุ่มคนมีฝีมือเรื่องงานจักสานย่านลิเภาอยู่มาก   จึงมีกลุ่มจักสานย่านลิเภาเกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชหลากหลายกลุ่ม   ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์และความงดงามโดดเด่นเฉพาะกลุ่มกันไป   เช่นที่   ร้านมนัสจิวเวลรี่ แอนด์ กิ๊ฟช๊อป   ห้างเพชรทองบุญรัตน์ และกลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านหนองบัว ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งผลิตสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดในฐานะเป็น  OTOP   ระดับ 5 ดาว
         การนำย่านลิเภามาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้หลักจากการทำผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาตกเดือนละหลายพันบาท ด้วยความที่มีคุณสมบัติพิเศษของย่านลิเภาคือ มีลำต้นเหนียว ทนทาน จึงเหมาะที่จะนำมาสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ เชี่ยนหมาก กระเป๋าหนีบ เป็นต้น
         ย่านลิเภาเป็นศิลปะหัตกรรมของชาวนครศรีธรรมราชที่สร้างอาชีพ  สร้างรายได้ ควรค่าแก่การเผยแพร่ ให้เป็นสินค้า  OTOP   และดำรงไว้ซึ่งศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตราบนานเท่านาน

 เอกสารอ้างอิง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  (2548)  เที่ยวทั่วไทยไปกับนายรอบรู้  นครศรีธรรมราช  สำนักพิมพ์สารคดี
กรุงเทพฯ
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2549)
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ   ฉบับเสริมการเรียนรู้  กรุงเทพฯ
จังหวัดนครศรีธรรมราช (2549, 12 กันยายน)   ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา    สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์ 
                http://www.thaitambon.com/   สืบค้นวันที่  15  กรกฎาคม 2552
ผู้จัดการออนไลน์ (2552)   ย่านลิเภา  สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์  http://www.lcc.ac.th/
สืบค้นวันที่  8 กันยายน  2552
ททท.สำนักงานภาคใต้  เขต  2  (2546)  Amazing  Thailand   เที่ยวไทยให้สนุก  เติมความสุขให้ชีวิต  
กองข่าวสารการท่องเที่ยว 
ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช (2552)   จักสานย่านลิเภา  สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์ 
http://www.tat.or.th/nakhonsithammarat/  สืบค้นวันที่  15  กรกฎาคม  2552
มนัส  พิศสุพรรณ  (2552, 15 กรกฎาคม)  เจ้าของและผู้จัดการร้านมนัสจิวเวลรี่ แอนด์ กิ๊ฟช๊อป  ผลิตภัณฑ์
จักสานย่านลิเภา  สัมภาษณ์โดย  จริยา  ทองหอม  สถานที่สัมภาษณ์   893/1  ถนนท่าช้าง  ตำบลคลัง  อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  80000   โทร.075-356-612 
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (2552)  ความหมายของย่านลิเภา  สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์ 
http://th.wikipedia.org/wiki/   สืบค้นวันที่  8 กันยายน  2552
วิน  แม้นสุรางค์  (2552, 23 กรกฎาคม)  กลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรเมืองนครศรีธรรมราช   ย่านลิเภา 
สัมภาษณ์โดย  ฐิตารีย์  ชาโนเพ็ญศิริ   สถานที่สัมภาษณ์   33  หมู่  16   บ้านแคสูง  ถนนนครศรีฯ หัวไทร  ตำบลท่าเรือ   อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  80000  โทร.075-670-097 
Kapok! (2552)  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์ 
                http://queen.kapook.com/index.php   สืบค้นวันที่  8 กันยายน  2552

..............................................................................................................





2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณคะ สำหรับข้อมูลกระเป๋าจักสานย่านลิเภา

    ตอบลบ
  2. สวัสดีค่ะ สอบถามอะไหล่ถมทองบนกระเป๋าย่านลิเภามีมีสีคล้ำ รบกวนแนะนำวิธีทำให้สีของถมทองชัดขึ้นมั๊ยคะ ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ