วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ☆☆
.....

โดย: จริยา  ทองหอม
07-15 ธันวาคม 2559
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาของพ่อ ☆☆
.....
          "...การศึกษาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล นำไปสู่การพัฒนาความรู้ทั้งในทางวิชาการ และในทางธรรม และนำไปสู่จุดหมายที่ดีงาม ถูกต้อง และสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นประโยชน์แก่บุคคล สังคม ส่วนรวม และประเทศชาติ..."
.....
ที่มา: พระราชดำริด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
          พระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชที่ทรงพระราชทานให้แก่คณะบุคคลในวโรกาสต่าง ๆ ตลอดรัชสมัยของพระองค์เป็นปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สะท้อนถึงปรัชญาการศึกษาของพระองค์ที่ทรงแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา วิชาความรู้ และผลแห่งการสร้างความรู้ กล่าวคือ การศึกษาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคล นำไปสู่การพัฒนาความรู้ทั้งในทางวิชาการ และในทางธรรม และนำไปสู่จุดหมายที่ดีงาม ถูกต้อง และสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นประโยชน์แก่บุคคล สังคม ส่วนรวม และประเทศชาติ การน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระองค์มาศึกษา ปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพทั่วถึงและเป็นธรรมแก่เด็กเยาวชนทุกคนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษา รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชนทุกคนจะเป็นหลักประกันที่ช่วยธำรงไว้ซึ่งความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของชาติตลอดไปอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานไว้ตลอดรัชสมัยของพระองค์ เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืนตามมติการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2573  (Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development)  สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทย มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืนและการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขจัดปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศระหว่างปี พ.ศ.2558-2563 
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 07). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
          ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. 
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9.
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
โอเคเนชั่น. (2558 กันยายน 22).  การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ณ นครนิวยอร์ค.      สืบค้นเมื่อ  20 พฤศจิกายน 2559.  จาก http://oknation.nationtv.tv/blog
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
ความหมายของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับความหมายของปรัชญาการศึกษา ความตอนหนึ่งว่า  "...การที่มีการศึกษาสมบูรณ์แล้วนี้ทำให้แต่ละคนหลีกเลี่ยงไม่ได้จากความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ สติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์และเป็นความเจริญวัฒนาแก่บ้านเมืองและส่วนรวม..."  (๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๖)  พระองค์ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับความหมายของการศึกษา ความตอนหนึ่งว่า  "...การศึกษาเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ ทัศนคติ ค่านิยม และคุณธรรมของบุคคลเพื่อให้เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศก็ย่อมทำได้สะดวกราบรื่นได้ผลที่แน่นอนและรวดเร็ว..."  (๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๐ดังที่ ยูเนสโก (2549) ได้อธิบายว่า การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การศึกษาที่นักเรียนจะได้เรียนรู้ทักษะ สมรรถนะ ค่านิยมและสรรพวิทยาการที่ต้องการ เป็นการศึกษาทุกระดับชั้นในทุกบริบทของสังคม เช่น การศึกษาในครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน  ชุมชน รวมทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการศึกษาที่ช่วยสร้างสมดุลย์ในการพัฒนาปัจเจคบุคคล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาการศึกษาที่สมบูรณ์ที่มีความครบถ้วนในตัวเองทั้งองค์ความรู้และการใช้ความรู้เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งเป็นการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งหวังให้เกิดขึ้นในพสกนิกรและประเทศชาติของพระองค์ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2554)
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 08). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
          ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. 
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9.
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
ยูเนสโก. (2549). ยูเนสโกกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. ข่าวสำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำ
          ยูแนสโก. (13 มิถุนายน 2549).
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
ขอบเขตของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.....
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงอธิบายขอบเขตของการศึกษา ความตอนหนึ่งว่า "...การศึกษานั้นเป็นเรื่องของทุกคน และไม่ใช่เฉพาะในระยะหนึ่ง เป็นหน้าที่โดยตรงในระยะเดียว ไม่ใช่อย่างนั้น ตั้งแต่เกิดมาก็ต้องศึกษา เติบโตขึ้นมาก็ต้องศึกษา จนกระทั่งถึงขั้นที่เรียกว่าอุดมศึกษา อย่างที่ท่านทั้งหลายกำลังศึกษาอยู่ หมายความว่าการศึกษาที่ครบถ้วน ที่อุดม ที่บริบูรณ์ แต่ต่อไปเมื่อออกไปทำหน้าที่การงานก็ต้องศึกษาต่อไปเหมือนกัน มิฉะนั้นคนเราก็อยู่ไม่ได้ แม้จบปริญญาเอกแล้วก็ต้องศึกษาต่อไปตลอด หมายความว่า การศึกษาไม่มีสิ้นสุด..." (๒๐ เมษายน ๒๕๒๑) พระราชดำรัสองค์นี้ชี้ถึงขอบเขตการศึกษาที่ครอบคลุมชีวิตของบุคคลตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ครอบคลุมทุกเรื่องและทุกเวลาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ซึ่งขอบเขตของการศึกษาตามแนวพระราชดำรัสนี้สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาเป็นหัวใจของชีวิตมนุษย์ และการศึกษาเป็นเครื่องนำทางที่สำคัญของมนุษย์ให้ไปสู่การพัฒนาคุณภาพตนเอง และให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติโดยรวม
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 09). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช.
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9.
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
หลักการของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.....
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงกล่าวถึงหลักการศึกษาที่ให้ความรู้ ความสามารถและนำไปสู่การทำให้ตนเองเป็นคนที่สมบูรณ์ ความตอนหนึ่งว่า  "..หลักอย่างหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ หลักของเหตุผล และจะต้องขัดเกลาตลอดเวลา มิฉะนั้นจะมีวิชาความรู้เท่าไรก็ตามก็ไม่สามารถนำไปเป็นประโยชน์แก่ตัวแก่ส่วนรวมได้ หลักของเหตุผลมีหลักการว่าถ้ามีสิ่งใดที่เราต้องเผชิญ ต้องพบ ต้องมีเหตุผลทั้งสิ้น คำนี้มีสองคำ เหตุคือต้นของสิ่งที่เราเผชิญและผลเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นแก่เรา ถ้าเราเผชิญสิ่งใดและเราพิจารณาด้วยเหตุผล ต่อไปเราก็จะเผชิญสิ่งที่ถูกต้อง..."(๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๙)  พระราชดำรัสนี้ ทรงสะท้อนความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลที่เป็นหลักการสำคัญของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการค้นหาเหตุและผลของสิ่งต่างๆหรือปรากฎการณ์ต่างๆเมื่อสามารถค้นพบสาเหตุแล้วย่อมจะเข้าใจถึงผลที่เกิดตามมา
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 10). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช.
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9.
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
ทฤษฎีของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.....
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทที่สะท้อนถึงทฤษฎีของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ ดังเช่น  ทรงเปรียบการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติว่า "...ผู้ไม่มีทฤษฎีเป็นผู้ไม่มีหลักความรู้ สู้ผู้มีทฤษฎีไม่ได้เพราะไม่มีความรู้เป็นทุนรอนสำหรับทำงาน แต่ผู้มีทฤษฎีที่ไม่หัดปฏิบัติหรือไม่ยอมปฏิบัตินั้นก็สู้นักทฤษฎีที่ปฏิบัติด้วยไม่ได้ เพราะนักทฤษฎีที่ไม่ยอมปฏิบัติทำให้ตัวเองพร้อมทั้งวิชาความรู้ทั้งหมดเป็นหมันไป ไม่ได้ประโยชน์ ไม่เป็นที่ต้องการของใคร ผู้มีความรู้ด้วย ใช้ความรู้ทำงานได้จริงๆจึงจะเป็นประโยชน์และเป็นที่ต้องการ..." (๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๐)  ดังที่กล่าวกันว่าเป็นการเรียนและการใช้วิชาการในลักษณะ "...สหวิทยาการ (multidiscipline) เพราะวิชาทั้งหลายเกี่ยวโยงถึงกันเป็นส่วนประกอบของกันและกัน เป็นปัจจัยอุดหนุนกันและกันอย่างแน่นแฟ้น..." (๓ ตุลาคม ๒๕๑๘)  ในมิติของสหวิทยาการแบ่งความรู้ออกเป็นความรู้ระหว่างบุคคลกับความรู้ระหว่างวิชา พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการใช้ความรู้ลงสู่การปฏิบัติให้เกิดผล ทรงชี้ถึงการใช้ความรู้เพื่อการปฏิบัติว่า  "...ทุกคนมีความรู้ต้องใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะว่าถ้าความรู้นั้นร่วมมือใช้ในทางที่ถูกก็จะเกิดคุณอย่างมหาศาลทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ส่วนรวม ฉะนั้นแต่ละคนที่ได้เรียนในแขนงของตนก็ย่อมต้องปฏิบัติงานเพื่อตนเองและเพื่อส่วนรวมนั้นก็ต้องมีความเข้าใจระหว่างบุคคล ระหว่างวิชา ดังนั้น ในการปฏิบัติงานทุกด้าน การเตรียมตัวพร้อมการร่วมมือเป็นอันสำคัญอยู่เสมอ..." (๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๕)  การนำทฤษฎีต่างๆ มาประยุกต์เข้าด้วยกันเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทรงแนะนำวิธีการประยุกต์ทฤษฎีสู่การปฏิบัติไว้สองประการ ได้แก่  1) การปรับทฤษฎีให้เข้ากับการปฏิบัติโดยจะต้องวิเคราะห์ปัญหาการปฏิบัติให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน  และ 2) การประสานกับทฤษฎีของวิชาอื่นๆ เข้าด้วยกันเพื่อช่วยให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือความจริงที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น และนำไปสู่การได้หนทางหรือวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเป็นผลสำเร็จ พระองค์ทรงอธิบายเรื่องนี้ว่า "...วิชาการทั้งปวงนั้นถึงจะมีประเภทมากมายเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใดก็ต้องใช้ด้วยกัน หรือต้องนำมาประยุกต์เข้าด้วยกันเสมอ ตัวอย่างเช่น อาหารที่เรารับประทาน กว่าจะสำเร็จขึ้นมาให้รับประทานได้ ต้องอาศัยวิชาประสมประสานกันหลายอย่างและต้องผ่านการปฏิบัติมากมายหลายอย่างหลายตอน ดังนั้น วิชาต่างๆมีความสัมพันธ์ถึงกันและมีอุปการะแก่กันทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และฝ่ายศิลปศาสตร์ ไม่มีวิชาใดที่นำมาใช้ได้โดยลำพัง หรือเฉพาะอย่างได้เลย..." (๓ สิงหาคม ๒๕๒๑)  หมายความว่าการนำวิชาการสาขาต่างๆเข้ามาประกอบกันเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานได้สำเร็จเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อการพัฒนาทฤษฎีหรือวิชาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เกิดผลต่อการปฏิบัติจริง ก็จะนำมาซึ่งความรู้ใหม่ที่มีการพัฒนาความรู้เดิมให้สูงขึ้น  พระองค์ทรงอธิบายการสะสมความรู้นี้ว่า  "...วิทยาการทุกอย่างมิใช่มีขึ้นในคราวหนึ่งคราวเดียวได้ หากแต่ค่อยๆสะสมกันมาทีละเล็กละน้อยจนมากมายกว้างขวาง การเรียนวิทยาการก็เช่นกัน บุคคลจำจะต้องค่อยๆเรียนรู้ให้เพิ่มพูนขึ้นนั้นเกิดเป็นรากฐานรองรับความรู้ที่สูงขึ้น ลึกซึ้ง กว้างขวางขึ้นต่อๆไป..." (๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๙)
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 10). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช.
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9. สืบค้นเมื่อ
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
.....  

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
กระบวนการเรียนรู้ของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.....
          ประเด็นคำถามต่อไป คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระราชทานกระบวนการเรียนรู้หรือการศึกษาไว้อย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งกระบวนการเรียนรู้ของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พระองค์ทรงอธิบายวิธีการศึกษาหรือการเรียนรู้ไว้ว่า  "...ลักษณะของการศึกษาหรือการเรียนรู้นั้นมีอยู่สามลักษณะได้แก่ เรียนรู้ตามความคิดของผู้อื่นอย่างหนึ่ง เรียนรู้ด้วยการขบคิดพิจารณาของตนเองให้เห็นเหตุผลอย่างหนึ่ง กับเรียนรู้จากการปฏิบัติฝึกฝนจนประจักษ์ผลและเกิดความคล่องแคล่วชำนาญอีกอย่างหนึ่ง การเรียนรู้ทั้งสามลักษณะนี้ จำเป็นต้องกระทำไปด้วยกันให้สอดคล้อง และอุดหนุนส่งเสริมกันจึงจะช่วยให้เกิดความรู้จริงพร้อมทั้งความสามารถที่จะนำมาใช้ทำการต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพได้..." (๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๔) จะเห็นว่าหลักการและวิธีการศึกษาที่ทรงแสดงนั้นเริ่มต้นตั้งแต่หลักการพื้นฐานของการศึกษาที่ตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผล อาจเริ่มต้นจาก  1) การเรียนรู้ตามความคิดของผู้อื่น 2) การเรียนรู้ด้วยการขบคิดพิจารณาด้วยตนเอง  และ3) การเรียนรู้จากการปฏิบัติฝึกฝนให้ได้ผลสำเร็จด้วยตนเอง  ดังนั้น การศึกษาที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์จะต้องมีหลักการ กระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง และเป็นระบบด้วยจึงจะนำพาความรู้ไปสู่จุดหมายที่พึงประสงค์ได้ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "...วิชาความรู้อันพึงประสงค์นั้น ได้แก่ วิชาความรู้ที่ถูกต้อง ชัดเจน แม่นยำ ชำนาญ นำไปใช้การเป็นประโยชน์ได้พอเหมาะพอควรทันต่อเหตุการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ..." (๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๓)
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 11). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช.
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9. สืบค้นเมื่อ
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
จุดหมายของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.....
          เมื่อตั้งประเด็นคำถามว่าจุดหมายของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงพระราชทานไว้อย่างไรการสังเคราะห์จากแนวพระราชดำรัส พบว่า  พระองค์ทรงสรุปจุดหมายของการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ว่า "...วัตถุประสงค์ของการศึกษานั้นคืออย่างไรกล่าวโดยรวบยอด คือ การทำให้บุคคลมีปัจจัยหรืออุปกรณ์สำหรับชีวิตอย่างครบถ้วนเพียงพอทั้งในส่วนวิชาความรู้ ส่วนความคิด วินิจฉัย ส่วนจิตใจ และคุณธรรมความประพฤติ ส่วนความขยันอดทน และความสามารถในการที่จะนำความรู้ความคิดไปใช้ปฏิบัติงานด้วยตนเองให้ได้จริงๆเพื่อสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสุขความเจริญมั่นคง และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมและบ้านเมืองได้ตามควรแก่ฐานะด้วย..."  (๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๓)  จากกระแสพระราชดำรัสแสดงให้เห็นว่า การศึกษาทำหน้าที่เป็นปัจจัยหรือเครื่องมือเพื่อให้บรรลุจุดหมายอันได้แก่ ประโยชน์ของผู้ศึกษาเอง (ตนเอง) และส่วนรวม (สังคมและบ้านเมือง) ทรงอธิบายว่า "...งานของชาตินี้จะต้องอาศัยวิชาการทั่วทุกแขนง ต้องสัมพันธ์กันแล้วดำเนินพร้อมกันไปโดยสอดคล้อง จึงเป็นความจำเป็นที่แต่ละฝ่ายแต่ละคนจะต้องศึกษาเรียนรู้ถึงโครงการ และความประสานสัมพันธ์ของงานส่วนรวมให้กระจ่างชัด เพื่อสามารถมองเห็นจุดรวมของงานทั้งหมดและสามารถประสานงานและส่งเสริมกันได้อย่างถูกต้องตรงจุดงานของชาติจักได้สัมฤทธิ์ผล..." (๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๐) จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่าของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดฃมหาราชสรุปได้เป็น 3 ประการ ดังนี้
๑) การศึกษามุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้แก่บุคคลและสังคมส่วนรวมโดยเฉพาะประเทศชาติ ซึ่งถือว่าเป็นจุดหมายสูงสุดของการศึกษา ๒) การศึกษามุ่งพัฒนาองค์ความรู้ให้ก้าวสูงขึ้นเพื่อจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของคนให้สูงขึ้นที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุจุดหมายในข้อแรกได้มากขึ้น และ ๓) การศึกษามุ่งพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคลที่มีให้ปรากฏออกมาเป็นความสามารถที่จะก่อประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมส่วนรวมตามจุดหมายในข้อแรกเช่นกัน
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 12). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช.  
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9. สืบค้นเมื่อ
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
องค์ประกอบของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.....
          "...การศึกษาเป็นเครื่องมือหรือปัจจัยไปสู่จุดหมาย..."  การศึกษาในความหมายนี้มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการที่จะช่วยให้สามารถบรรลุจุดหมายของการศึกษาตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงแสดง และสะท้อนถึงพระอัจฉริยะภาพด้านปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความตอนหนึ่งว่า
"... ๑.  ส่วนวิชาความรู้ ได้แก่ วิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆที่ศึกษาอย่างถูกต้องครบถ้วน
๒.  ส่วนความคิดวินิจฉัย ได้แก่ ความสามารถของการขบคิดพิจารณาและวินิจฉัยในเรื่องที่ศึกษาและความเป็นจริงที่ปรากฏ ซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการหรือกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลของผู้ศึกษา
๓.  ส่วนจิตใจและคุณธรรม ได้แก่ การพัฒนาจิตใจให้มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจที่จะใช้วิชาความรู้เพื่อประโยชน์ในทาง ที่ดีต่อตนเองและส่วนรวม ซึ่งเป็นการกำกับความประพฤติของคนให้ดำเนินไปอย่างถูกต้องโดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
๔. ส่วนความขยันอดทน ได้แก่ การฝึกฝนให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันและมีความอดทนต่อปัญหาหรืออุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้บรรลุจุดหมายที่กำหนดไว้..." 
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 13). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช.
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9. สืบค้นเมื่อ
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
คุณลักษณะบุคคลของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.....
          การศึกษาตามแนวพระราชดำริไม่ใช่สิ่งที่สิ้นสุดในตัวเองจึงเป็นปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นเครื่องมือนำพาบุคคลและประเทศชาติไปสู่จุดหมายที่ดีงาม การใช้ความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาเพื่อนำไปสู่จุดหมายของตนเองและส่วนรวมที่ดีงามนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชมหาราช ทรงเน้นความสำคัญของความรู้เชิงความประพฤติเพื่อกำกับการใช้วิชาความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริงเป็นอย่างมาก ดังนั้น การศึกษาเพื่อปลูกฝังคุณลักษณะแก่บุคคลให้เป็นผู้มีวิชาความรู้ จะต้องกระทำควบคู่ไปกับการเรียนรู้เชิงวิชาการด้วย พระองค์ทรงอธิบายคุณลักษณะที่กล่าวว่า "...ผู้ที่มีวิชาการแล้วจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติในตัวเอง นอกจากวิชาความรู้ด้วยจึงจะนำตน นำชาติให้รอดและเจริญได้ คุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ได้แก่ ความละอายชั่วกลัวบาป ความซื่อสัตย์สุจริตทั้งในความคิด และการกระทำความกตัญญูรู้คุณชาติบ้านเมืองและผู้มีอุปการะตัวมา ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หากแต่มีความจริงใจ มีความปรารถนาดีต่อกัน  เอื้อเฟื้อกันตามฐานะและหน้าที่ และที่สำคัญอย่างมากก็คือ ความขยันหมั่นเพียร พยายามฝึกหัดประกอบการงานทั้งเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ด้วยตนเอง ด้วยความตั้งใจ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ทอดธุระ เพื่อหาความสะดวกสบาย จากการเกียจคร้าน ไม่มักง่าย หยาบคาย สะเพร่า..." (๘ มิถุนายน ๒๕๒๒)  คุณลักษณะบุคคล 7 ประการ ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยกำกับให้ผู้มีวิชาความรู้ ใช้วิชาความรู้เพื่อปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดหมายของการศึกษา  ประกอบด้วย ๑) ความละอายชั่วกลัวบาป ๒) ความซื่อสัตย์สุจริต ๓) ความกตัญญูรู้คุณ ๔) ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ๕) ความจริงใจ ๖) ความปรารถนาดี เอื้อเฟื้อต่อกัน  และ ๗) ความขยันหมั่นเพียร 
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 14). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช.
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9.
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
.....

☆☆ ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ☆☆
.....
บทสรุปปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.....
          บทความ เรื่อง ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นการน้อมนำปรัชญาแห่งการศึกษาของพระองค์ที่ทรงชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา วิชาความรู้ และผลแห่งการใช้วิชาความรู้ทางวิชาการ (ทฤษฎี) และในทางธรรม (ปฏิบัติ) มาใช้เพื่อเป็นหลักประกันที่จะช่วยกันธำรงรักษาไว้ซึ่งความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของประเทศชาติอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของแนวพระราชดำริที่ทรงเพียรพระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์ที่จะได้เข้าใจ และปฏิบัติตามตลอดรัชสมัยของพระองค์ สมดังพระราชกระแสที่ว่า "...การที่มีการศึกษาสมบูรณ์แล้วนี้ทำให้แต่ละคนหลีกเลี่ยงไม่ได้จากความรับผิดชอบที่จะต้องใช้ความรู้ สติปัญญาของตนให้เป็นประโยชน์และเป็นความเจริญวัฒนาแก่บ้านเมืองและส่วนรวม..."(๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๖) โดยจัดระบบการเขียนเป็นบทความสั้น ๆ เป็นตอน ๆ เพื่อให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจ จำแนกเป็น 8 ประการ ประกอบด้วย  1) ความหมายของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  2) ขอบเขตของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  3) หลักการของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  4) ทฤษฎีของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  5) กระบวนการเรียนรู้ของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  6) จุดหมายของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  7) องค์ประกอบของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  และ 8) คุณลักษณะบุคคลของปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยคุณค่าขององค์ความรู้แห่งแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นกล่าวนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควรที่ปวงประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าจะน้อมนำปรัชญาแห่งการศึกษาของพระองค์มาใช้สมดังพระราชปณิธานที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริที่สำคัญด้านการศึกษาไว้ให้เป็นสมบัติของประชาชน และประเทศชาติตลอดไป
.....
ที่มา: จริยา ทองหอม. (2559 ธันวาคม 15). ปรัชญาการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช.
          จาก  https://www.facebook.com/profile.php?id=100001093292112  
กระทรวงศึกษาธิการ. (2554 มิถุนายน 15). พระราชดำริด้านการศึกษาของรัชกาลที่ 9. สืบค้นเมื่อ
          สืบค้นเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2559. จาก  http://www.moe.go.th/5DEC/index.php?option
          =com_content&view=article&id=26&Itemid=32 
.....