วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2562

การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ


การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ
(The learning partnership)
จริยา ทองหอม
21  เมษายน 2562



                        การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (The learning partnership)  เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้กระบวนการกลุ่มให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์และเกิดความสำเร็จร่วมกันของกลุ่ม  การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือผู้สอนจะต้องเลือกเทคนิคการจัดการเรียนที่เหมาะสมกับผู้เรียน และผู้เรียนจะต้องมีความพร้อมที่จะร่วมกันทำกิจกรรม รับผิดชอบงานของกลุ่มร่วมกัน โดยที่กลุ่มจะประสบความสำเร็จได้ เมื่อสมาชิกทุกคนได้เรียนรู้บรรลุตามจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การเรียนเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ความหมาย
การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตน  และส่วนรวม  เพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด

วัตถุประสงค์ 
1.  เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะกระบวนการกลุ่มได้ฝึกบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำงานกลุ่ม
           2.  เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดค้นคว้า  ทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  ทักษะการคิดสร้างสรรค์  การแก้ปัญหา  การตัดสินใจ  การตั้งคำถาม  ตอบคำถาม  การใช้ภาษา  การพูด ฯลฯ
3.  เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะทางสังคม  การอยู่ร่วมกับผู้อื่น  การมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น การเสีย สละ  การยอมรับกันและกัน  การไว้วางใจ  การเป็นผู้นำ  ผู้ตาม  ฯลฯ

น้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" มาใช้ในการออกแบบ
                 การออกแบบการขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (The learning partnership) โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชา เพื่อปลูกจิตสำนึกแบบระเบิดจากข้างใน ดังนี้
1. เน้นพึ่งตนเองได้
2. คำนึงถึงภูมิสังคม
3. ทำตามลำดับขั้นตอน
4. ประหยัด เรียบง่าย
5. บริการจุดเดียว
6. มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่  
7. แก้ปัญหาจากจุดเล็ก
8. ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ
9. ไม่ติดตำรา
10. เน้นการมีส่วนร่วม
11. รู้ รัก สามัคคี

ลักษณะของการเรียนรู้
1. มีการทำงานกลุ่มร่วมกัน  มีปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม
2. สมาชิกในกลุ่มมีจำนวนไม่ควรเกิน  6  คน
3. สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันเพื่อช่วยเหลือกัน
4. สมาชิกในกลุ่มต่างมีบทบาทรับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย  เช่น  เป็นผู้นำกลุ่ม 
(Leader)  เป็นผู้อธิบาย (Explainer)  เป็นผู้จดบันทึก (Recorder) เป็นผู้ตรวจสอบ (Checker)  เป็นผู้สังเกตการณ์ (Observer) เป็นผู้ให้กำลังใจ (Encourager) ฯลฯ                        

องค์ประกอบสำคัญ
                1.  ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในทางบวก  (Positive Interdependence)  หมายถึง การที่สมาชิก       ในกลุ่มทำงานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน  มีการทำงานร่วมกัน โดยที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน
                 2.  การมีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน  (Face  To  Face  Pronotive  Interaction)  เป็นการติดต่อสัมพันธ์กัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ให้ข้อมูลย้อนกลับ เปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอแนวความคิดใหม่ ๆ เพื่อเลือกในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
                3. ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละคน  (Individual  Accountability)  เป็นความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละบุคคล  โดยมีการช่วยเหลือส่งเสริมซึ่งกันและกัน  เพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายกลุ่ม  โดยที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความมั่นใจ  และพร้อมที่จะได้รับการทดสอบเป็นรายบุคคล
                4.  การใช้ทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย  (Interdependence  and  Small  Group  Skills)  นักเรียนควรได้รับการฝึกทักษะในการสื่อสาร การเป็นผู้นำ การไว้วางใจผู้อื่น การตัด สินใจ  การแก้ปัญหา  ครูควรจัดสถานการณ์ที่จะส่งเสริมให้นักเรียน  เพื่อให้นักเรียนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
                5.  กระบวนการกลุ่ม  (Group Process)  เป็นวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  สมาชิกทุกคนต้องทำความเข้าใจในเป้าหมายการทำงาน  วางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน  ดำเนินงานตามแผนตลอดจนประเมินผลและปรับปรุงงาน

ขั้นตอนการจัดกิจกรรม 
1. ขั้นเตรียมการ  ผู้สอนชี้แจงจุดประสงค์ของบทเรียน ผู้สอนจัดกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย  กลุ่มละประมาณไม่เกิน  6  คน  มีสมาชิกที่มีความสามารถแตกต่างกัน  ผู้สอนแนะนำวิธีการทำงานกลุ่มและบทบาทของสมาชิกในกลุ่ม
2.  ขั้นสอน  ผู้สอนนำเข้าสู่บทเรียน  บอกปัญหาหรืองานที่ต้องการให้กลุ่มแก้ไขหรือคิด วิเคราะห์  หาคำตอบผู้สอนแนะนำแหล่งข้อมูล  ค้นคว้า หรือให้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการคิดวิเคราะห์ผู้สอนมอบหมายงานที่กลุ่มต้องทำให้ชัดเจน
3. ขั้นทำกิจกรรมกลุ่ม  ผู้เรียนร่วมมือกันทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ  ทุกคนร่วมรับผิดชอบ ร่วมคิด  ร่วมแสดงความคิดเห็น การจัดกิจกรรในขั้นนี้  ครูควรใช้เทคนิคการเรียนรู้แบบร่วมแรงร่วมใจ  ที่น่าสนใจและเหมาะสมกับผู้เรียน  เช่น  การเล่าเรื่องรอบวง  มุมสนทนา  คู่ตรวจสอบ  คู่คิด  ฯลฯผู้สอนสังเกตการณ์ทำงานของกลุ่ม  คอยเป็นผู้อำนวยความสะดวก  ให้ความกระจ่างในกรณีที่ผู้เรียนสงสัยต้องการความช่วยเหลือ
4. ขั้นตรวจสอบผลงานและทดสอบ  ขั้นนี้ผู้เรียนจะรายงานผลการทำงานกลุ่ม  ผู้สอนและเพื่อนกลุ่มอื่นอาจซักถามเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเจน  เพื่อเป็นการตรวจสอบผลงานของกลุ่มและรายบุคคล
5.  ขั้นสรุปบทเรียนและประเมินผลการทำงานกลุ่ม  ขั้นนี้ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกัน สรุปบทเรียน  ผู้สอนควรช่วยเสริมเพิ่มเติมความรู้  ช่วยคิดให้ครบตามเป้าหมายการเรียนที่กำหนดไว้  และช่วยกันประเมินผลการทำงานกลุ่มทั้งส่วนที่เด่นและส่วนที่ควรปรับปรุงแก้ไข

เทคนิคการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีหลายวิธี  ดังนี้
1. ปริศนาความคิด  (Jigsaw) เป็นเทคนิคที่สมาชิกในกลุ่มแยกย้ายกันไปศึกษาหาความรู้  ในหัวข้อเนื้อหาที่แตกต่างกัน  แล้วกลับเข้ากลุ่มมาถ่ายทอดความรู้ที่ได้มาให้สมาชิกกลุ่มฟัง 
2. กลุ่มร่วมมือแข่งขัน  (Teams  Games  Toumaments : TGT) เป็นกิจกรรมที่สมาชิกในกลุ่มเรียนรู้เนื้อหาสาระจากผู้สอนด้วยกัน  แล้วแต่ละคนแยกย้ายไปแข่งขันทดสอบความรู้  คะแนนที่ได้ของแต่ละคนจะนำมารวมกันเป็นคะแนนของกลุ่ม  กลุ่มที่ได้คะแนนรวมสูงสุดเป็นทีมชนะเลิศ
3.  กลุ่มร่วมมือช่วยเหลือ  (Team  Assisted  Individualization : TAT)  เป็นการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกแต่ละคนได้แสดงความสามารถเฉพาะตนก่อน  แล้วจึงจับคู่ตรวจสอบกันและกัน  ช่วยเหลือกันทำใบงานจนสามารถผ่านได้  ต่อจากนั้นจึงนำคะแนนของแต่ละคนมารวมเป็นคะแนนของกลุ่ม  กลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นฝ่ายได้รับรางวัล
4.  กลุ่มสืบค้น  (Group  Investigation : GI) เป็นเทคนิคการจัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  ผู้เรียนแต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายให้ค้นคว้าหาความรู้มานำเสนอ  โดยที่ทุกคนในกลุ่มรับรู้และช่วยกันทำงาน ผู้เรียนจะนำเสนอผลงานทีละกลุ่ม  แล้วร่วมกันประเมินผลงาน
5.  กลุ่มเรียนรู้ร่วมกัน  (Learning  Together : LT)  เป็นเทคนิคการจัดกิจกรรมที่ให้สมาชิกในกลุ่มได้รับผิดชอบ  ทุกคนช่วยกันทำงาน กลุ่มจะได้ผลงานที่เกิดจากการทำงานของทุกคน
6. กลุ่มร่วมกันคิด  (Numbered  Heads  Together : NHT) เป็นเทคนิคการจัดกิจกรรมที่ให้สมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันร่วมกันอภิปรายปัญหาที่ได้รับเพื่อให้เกิดความพร้อมและความมั่นใจที่จะตอบคำถามผู้สอน  ผู้สอนจะเรียกสมาชิกกลุ่มให้ตอบทีละคน  แล้วนำคะแนนของแต่ละคนมารวมเป็นคะแนนของกลุ่ม
7. กลุ่มร่วมมือ  (Co-op  Co-op)  เป็นเทคนิคการทำงานกลุ่มโดยสมาชิกในกลุ่มที่มีความสามารถและความถนัดแตกต่างกันแบ่งหน้าที่รับผิดชอบไปศึกษาหัวข้อย่อยทีได้รับมอบหมายแล้วนำงานจากการศึกษาค้นคว้ามารวมกันเป็นงานกลุ่มปรับปรุงให้ต่อเนื่องเชื่อมโยง  มีความสละสลวย  เสร็จแล้วจึงนำเสนอต่อชั้นเรียน  ทุกกลุ่มจะช่วยกันประเมินผลงาน
จากที่กล่าวมาทั้งหมดสรุปได้ว่า  การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นวิธีการฝึกผู้เรียนให้มีทักษะปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอย่างแท้จริง  ฝึกความรับผิดชอบ  ฝึกความเป็นผู้นำ ผู้ตาม  ฝึกการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ และฝึกทักษะทางสังคม  ผู้สอนควรเลือกใช้เทคนิควิธีต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระและจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้





ที่มาการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ. สืบค้นเมื่อ 15  เมษายน 2562
จาก https://prapaipook77.files.wordpress.com/2012/01/cooperative-learning
ครรชิต มนูญผล.  (2561  มีนาคม 21).  ศาสตร์พระราชา.  สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2562
จาก  https://www.facebook.com/1512687895617470/
จริยา ทองหอม. (2562 เมษายน 21).  การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือจาก  https://tonghom2009.blogspot.com/



วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562

สัตว์โลกผู้น่ารัก



สัตว์โลกผู้น่ารัก
จริยา ทองหอม
18 เมษายน 2562

                ตกแต่งภาพโดยใช้ Application ต่างๆ ในโทรศัพท์  พบเฟรมภาพน่ารักๆ เกี่ยวกับสัตว์นานาชนิด ทำให้ต้องสืบค้นข้อมูลเพื่อนำมาใช้เป็นเนื้อหาและเพลงประกอบที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ต่างๆ รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในที่สุดก็ค้นพบเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาสาระสัมพันธ์กัน ได้แก่ เพลงสัตว์โลกผู้น่ารัก ซึ่งมีสาระสำคัญๆในเนื้อเพลง ดังนี้
ท้องทุ่งเขียวขจี  แว่วเสียงชะนีก้องแนวไพร
ช้างยืนโคลงตัวไปมา  ม้าลาเดินตามกันไป
สิงโต  แมวลาย  เสือปลา
กวางเดินดงดายเดียว  ชะนีเปรียวโยนตัวลงมา
นกกินปลา  เกาะบนยอดยาง
นางนวลบินวนเวียน นกกระเรียนเดินตามดูกวาง
นกกระยางบินลับตาไป
แสนสุขสมใจเพลิน  น่ารักเหลือเกินเพื่อนทั้งหลาย
ขอเชิญชวนกันเอ็นดู ให้อยู่กันตามสบาย
ขออย่าทำลายล้างมัน
ทุกๆสรรพสิ่งบนโลกล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ทุกๆสิ่งล้วนรักชีวิตของตนเอง ขอให้ช่วยกันดูแลรักษา อย่าทำลายล้างกัน
…..

ใส่เสื้อสีเหลืองเก่าๆ ที่มีตราสัญลักษณ์ของพ่อเพราะคิดถึงพ่อ ติดตามหาพระราชดำรัสเกี่ยวกับ     
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาฝากดังนี้

พ่อของแผ่นดิน ร่มโพธิ์แห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 “ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญ เราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้เปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่การระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว
--- พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2529

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานอย่างไม่เคยว่างเว้น และทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ถึงพร้อมด้วยความบริบูรณ์ โดยหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
แนวคิดและทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นเกื้อกูลการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ปัญหาป่าไม้ของไทยที่ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดภัยแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อยามน้ำหลากก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันและมีการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จนเป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร กลายเป็นทุกข์ร้อนของแผ่นดินที่พระองค์ทรงห่วงใยเป็นอย่างมากตลอดมา จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับป่าต้นน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและป้องกันอุทกภัย
ทฤษฎีและแนวคิดตามพระราชดำริต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจนานัปการของพระองค์ เช่น
1. "ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก"
2. ปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง
3. การปลูกป่าทดแทน
พระองค์ทรงเป็นพระราชาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก และเป็นที่กล่าวว่าไม่มีที่ใดที่พระองค์ไม่เคยเสด็จไปถึง พระองค์ทรงโอบอุ้มผืนดินและผืนป่าเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติไว้ให้กับชาวไทย เป็นหน้าที่ของเราทุกคนแล้วที่จะต้องร่วมปกป้องดูแลสมบัติอันล้ำค่าสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อสืบไป
…..


ที่มา:
Application: Digital camera, BeautyPlus, PhotoFrameV, Filmigo, Music
Music:  เพลงสัตว์โลกผู้น่ารัก: ดอกไม้ป่า
จริยา ทองหอม. (2562 เมษายน 18). สัตว์โลกผู้น่ารัก
Link: https://www.youtube.com/watch?v=hyvxloeeRNM&feature=youtu.be
จริยา ทองหอม. (2562 เมษายน 18). สัตว์โลกผู้น่ารัก.  
Link: https://tonghom2009.blogspot.com/
รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์. (2559).  พ่อของแผ่นดิน ร่มโพธิ์แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม.
Link: https://www.greenpeace.org/archive-thailand/news/blog1/blog/57733/
…..



















วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2562

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก























พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ไทย
จริยา ทองหอม
15  เมษายน 2562

สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย มีความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะบทบาทการเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ เป็นผู้นำในการปกครอง ปกป้องประเทศจากอริราชศัตรู ตามคติความเชื่อแบบเทวราชาที่ตกทอดมาตั้งแต่โบราณ 
ฐานะของพระมหากษัตริย์ยกย่องให้เป็นดั่งสมมติเทพ อีกทั้งสถาบันกษัตริย์มีความใกล้ชิดกับผู้คนด้วย ดั่งเห็นได้จากพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของผู้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระราชพิธีหนึ่ง ในการเฉลิมพระเกียรติยศองค์พระประมุขในวโรกาสที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นสิริมงคล เป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมือง
พระราชพิธีราชาภิเษกของไทยนั้นมีการสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ และยึดถือปฏิบัติเป็นแบบแผน สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

เลขาธิการพระราชวังรับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า โดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยนั้น
ทรงพระราชดำริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติและราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนี้ 
วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร
วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้นเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค 
วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล 
ส่วนการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปี พุทธศักราช 2562  จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน
* * * * * * * * ** * * * * * * * ** * * * * * * * *

รูปแบบการทำภาพ..ถวายพระพร..สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
* * * * * * * * *
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า นางสาวจริยา ทองหอม

ที่มา
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ไทย(2562 มกราคม 2). สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2562
                จาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/822888
ไทยรัฐออนไลน์(2562 มกราคม 1). "ในหลวง"โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
4-6 พ.ค.2562. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2562  จาก https://www.thairath.co.th/content/1458910



วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2562

สงกรานต์


สงกรานต์
จริยา  ทองหอม
13  เมษายน 2562

สงกรานต์ คือ ประเพณีของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมนฑล      ยูนานของจีน รวมถึงศรีลังกา และประเทศทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สันนิษฐานกันว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นได้รับวัฒนธรรมมาจากเทศกาลโฮลีในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน โดยจะจัดให้มีขึ้นในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม
สงกรานต์ เป็นคำในภาษา สันสกฤต ที่หมายถึง การเคลื่อนย้าย โดยเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายการประทับในจักรราศี หรือการเคลื่อนเข้าสู่ปีใหม่ตามความเชื่อของไทยและบางประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเพณีสงกรานต์นั้นมีสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคู่กับตรุษ จึงมักเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 
ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" (ภาษาเขมร แปลว่า "อยู่ ") และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"
ปัจจุบันได้มีการประชาสัมพันธ์ในเชิงท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ เทศกาลแห่งน้ำ โดยได้ตัดข้อมูลในส่วนที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมออกไป
กิจกรรมวันสงกรานต์ เช่น  การทำบุญตักบาตร  การรดน้ำ  การสรงน้ำพระ  การบังสุกุลอัฐิ  การรดน้ำผู้ใหญ่   การปล่อยนกปล่อยปลา  การขนททรายเข้าวัด เป็นต้น



ที่มา
วันสงกรานต์สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2562 จาก  http://event.sanook.com/day/songkran/
สงกรานต์สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2562 จาก  https://th.wikipedia.org/wiki/สงกรานต์