ความสามารถ ทั่วไปในการเรียนรู้ของวัยเด็กตอนปลาย
(Late child hood) หรือวัยแรกรุ่น (10-13 ปี) ตามทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคม (Psychosocial
Stages) ของอิริคสัน (Erik H.Erikson)
และขั้นพัฒนาการการแสวงหาความพึงใจจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (Psychosexual
Stages) ของฟรอยด์ (Sigmund Freud) มีธรรมชาติการเรียนรู้และพัฒนาการที่สำคัญ
4 ด้าน คือ
1) พัฒนาการทางร่างกาย
2) พัฒนาการทางสังคม
3) พัฒนาการทางจิตใจ
4) พัฒนาการทางสติปัญญา
1) พัฒนาการทางร่างกาย การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
ส่งผลกระทบไปยังจิตใจ ทำให้มีความคิดหมกมุ่น วิตกกังวล อารมณ์หงุดหงิดและแปรปรวนง่าย
การเจริญเติบโตอาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกันหรือไม่เป็นไปตามขั้นตอน การเจริญเติบโตจะเร็วหรือช้าเพียงใดขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะทางเพศและทางสรีระ
วัยรุ่นที่จะผ่านช่วงวิกฤตนี้ได้ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง
ต้องเข้าใจและควบคุมอารมณ์ความรู้สึกที่พลุ่งพล่านขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ
เด็กผู้หญิงจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก่อนเด็กผู้ชายประมาณ
2 ปี
ทำให้ในชั้นประถมตอนปลายหรือชั้นมัธยมต้นจะพบวัยแรกรุ่นหญิงมีร่างกายสูงใหญ่
เป็นสาวน้อยแรกรุ่น ในขณะที่พวกเด็กผู้ชายยังดูเป็นเด็กชายตัวเล็กๆ
ซึ่งเป็นเหตุทำให้เด็กตกอยู่ในความวิตกกังวล เด็กชายที่ยังไม่บรรลุภาวะจะรู้สึกว่าตนถูกบีบบังคับมากกว่าทำให้เกิดข้อบกพร่องในการพูด
อ่าน และปัญหาอื่นๆ ของเด็กชายจะมีมากขึ้น การขาดสมรรถภาพทางสมอง
เกี่ยวพันกับการเจริญเติบทางกายเช่นกัน
อัตราการเติบโตของเด็กชายที่หย่อนสมรรถภาพทางสมอง จะช้ากว่าเด็กชายที่มีความเจริญเติบโตทางสมองปกติ
เด็กประเภทนี้ช้าไม่เฉพาะแต่ส่วนสูงและน้ำหนักเท่านั้น
แต่ช้าในด้านอื่นๆด้วย เช่น การเรียนรู้ที่จะเดิน ฟันขึ้น
และช้าในระยะเข้าสู่วัยแตกเนื้อหนุ่มสาวด้วย
2) พัฒนาการทางสังคม เด็กชายและเด็กหญิงเล่นด้วยกัน
น้อยลง
ความสนใจต่างกันออกไป แต่ยังให้ความสำคัญของการเป็นที่รู้จักในเพศตรงข้าม
สัมพันธภาพระหว่างเพศไม่แน่นอน เปลี่ยนเพื่อนอยู่เสมอ
เด็กชอบอยู่เป็นกลุ่มทำให้เด็กสามารถทำอะไรได้สำเร็จ
และเพิ่มความรู้สึกว่าตนมีความสำคัญขึ้น
การรวมกลุ่ม ความรักกลุ่มและเพื่อนร่วมชั้นจะพัฒนาขึ้น
และต้องการให้กลุ่มยอมรับตน
บางครั้งครูต้องเผชิญกับความขัดแย้งของกลุ่มเด็ก
ครูอาจปล่อยให้เด็กได้ทำตามสิ่งที่ต้องการไปก่อนและช่วยโน้มน้าวแนะนำแก้ไขภายหลัง
ทั้งนี้จะทำให้เด็กเรียนรู้การแก้ปัญหาจากประสบการณ์ที่ได้มาด้วยตัวเอง
ปัจจัยการยอมรับทางสังคม เด็กที่ไม่มีเพื่อนจะไม่
สามารถปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มเพื่อนได้เพราะขาดการยอมรับจากกลุ่ม
เด็กที่ได้รับการยอมรับทางสังคมจะเข้าใจตนเองได้ถูกต้องขึ้น
มีความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีขึ้น
และสามารถทำงานรับผิดชอบในกลุ่มได้อย่างผ่อนหนักผ่อนเบา
เด็กมีความอบอุ่นมั่นคงทางใจ การอยู่ร่วมกับกลุ่มของเด็กดูจะมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจสังคมของเด็กด้วย
เด็กที่ครอบครัวฐานะดีจะให้ความร่วมมือในสังคมมากขึ้น
การเลือกคบเพื่อน
เด็กจะเลือกตัวบุคคลเป็นอันดับแรก
เลือกคนที่แจ่มใส
เมตตา ให้ความร่วมมือ โอบอ้อมอารี สุภาพ ซื่อตรง พูดตกลงกันง่ายและอารมณ์มั่นคง เหตุผลอื่น ๆ
ในการคบเพื่อนคือมีความสนใจและสิ่งอื่นคล้ายคลึงกัน แต่มีการเปลี่ยนเพื่อนบ่อย
นอกจากนี้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายได้ครอบครัวและเหตุอื่น ๆ
ก็เป็นตัวสำคัญในการเลือกคบเพื่อนของเด็กวัยก่อนรุ่นด้วย ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้า
แต่ถ้ามีคุณสมบัติที่ดึงดูดให้คนอื่นเข้าใกล้ก็มีเพื่อนมากได้เหมือนกัน
ความรู้สึกไวต่อสังคมและเจตนคติที่ดีต่อสังคมจะ
พัฒนาขึ้นได้ก็เมื่อเด็กได้รับสิ่งแวดล้อม
ดังนี้
- ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างในทางมีเมตตา
และมีความคำนึงถึง
ผู้อื่นเสมอ
- ผู้ใหญ่ยอมรับเจตนคติในการคำนึงถึงผู้อื่นของเขา
เด็ก ๆ
จะรู้คุณค่าของตัวบุคคลมากขึ้นเมื่อเขาได้มีส่วน
ร่วมและสวัสดิภาพแก่กลุ่ม
ความคิดฝันทางทำประโยชน์ให้สังคมจะเกิดขึ้น
ซึ่งช่วยให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
3) พัฒนาการทางจิตใจ ผลจากการเปลี่ยนแปลงทาง
ร่างกายจะทำให้เกิดผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ
ทั้งความวิตกกังวล หงุดหงิด หมกมุ่น ไม่พอใจในรูปร่างที่เปลี่ยนไป
เด็กวัยก่อนรุ่น
ควรได้รับความช่วยเหลือให้สามารถควบคุมปรับปรุงแก้ไขตนเองได้มากขึ้น
เด็กมีความรู้สึกไวกับเจตคติที่ผู้อื่นมีต่อเขา จะรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากถ้าถูกวิจารณ์
หรือเปรียบเทียบกับเด็กอื่น
เด็กที่ถูกทอดทิ้งทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนจะเป็นผู้ที่ไม่มีความสุขกลายเป็นเด็กเงียบหรือไม่ก็มีพฤติกรรมขัดขืน
และไม่เกรงกลัวใคร ความเครียดที่เด็กได้รับจากทางบ้านอาจน้อยลงหรือหาย
ไปถ้าเด็กได้รับความสัมพันธ์ที่ดีจากครูและเพื่อน อารมณ์รุนแรงการใช้กำลังจะลดลง
รู้จักหาสิ่งที่ต้องการด้วยวิธีที่อ่อนโยนขึ้นกลัวความผิดหวัง
ถูกเยาะเย้ยหรือถูกว่าเป็นผู้หญิงมากกว่ากลัวร่างกายบาดเจ็บ เด็กวัยนี้กังวลใจเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ของบุคคลในครอบครัวมากที่สุด
นอกจากนี้เด็กยังกลัวคะแนนสอบ การสอบตก
และเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะตนเองอย่างไรก็ดีบุคลิกภาพของเด็กย่อมปรับปรุงได้
และเด็กสามารถที่จะปรับปรุงตนเองได้ดีด้วย
ความต้องการของวัยแรกรุ่น เนื่องจากเด็กมีความ
เปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น
ทำให้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น คือ
- อาหารที่มีคุณค่า
- เล่นกีฬาที่ช่วยให้พัฒนาทักษะส่วนบุคคล
- การพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ความช่วยเหลือให้เข้าใจกระสวนความเจริญเติบโตตามธรรมชาติ
- สถานที่ เครื่องมือ เครื่องใช้ และหนังสือที่ช่วยให้เกิดความคิด
การทำกิจกรรมริเริ่มสร้างสรรค์หรือใช้กำลังเคลื่อนไหว โดยผู้ใหญ่ไม่บังคับ
- ความช่วยเหลือพิเศษ
ถ้าเป็นผู้ที่มีกระสวนความเจริญเติบโตเร็วหรือช้ากว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน
- ได้รับการยอมรับความสามารถและการได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
- ความรัก ความอบอุ่น และความยกย่องชมเชยจากผู้ใหญ่
อารมณ์ของวัยเด็กตอนปลายหรือวัยแรกรุ่น
1. ความรักและความห่วงใย ความรู้สึกอยากที่จะถูกรัก
และยังอยากได้รับความเอาใจใส่ ห่วงใยจากบุคคลที่มีความสำคัญต่อเด็กแต่ไม่ใช่การแสดงออกของพ่อแม่ที่ทำกับเขาราวกับเด็กเล็กๆ
ไม่ต้องการความเจ้ากี้เจ้าการ ไม่ต้องการให้แสดงความห่วงใยอยู่ตลอดเวลา
2. ความกลัว รูปแบบของความกลัว เช่น ความอาย ความกลุ้มใจ และความกังวลใจ
3. ความโกรธ เด็กวัยนี้มีความต้องการในสิ่งต่างๆเพิ่มขึ้น
เด็กเกิดความคับข้องใจได้ง่าย เด็กจะตำหนิติเตียนสิ่งที่ทำให้ตนเกิดความโกรธ บางคนใช้วิธีการต่อต้านวัตถุและสิ่งของโดยตรง
บางคนหลีกหนี และบางครั้งมีการก้าวร้าวอย่างรุนแรง
4. ความริษยา เด็กแสดงออกโดยการทะเลาะวิวาท หัวเราะเยาะ
รังแกเด็กที่ตนมีความรู้สึกริษยาโดยตรงและอาจมีการแสดงออกโดยทางอ้อมคือ
พูดกระทบกระเทียบ เป็นต้น
5. ความเป็นอิสระ
อยากทำอะไรได้ด้วยตัวของตัวเอง อยากทำในสิ่งที่ตัวเองคิดแล้วว่าดี อยากมีส่วนในการตัดสินใจ
เด็กวัยนี้เริ่มมีความคิดอ่านเป็นของตนเอง เริ่มมีความคิดแบบนามธรรม
(abstract thinking) การแยกจากพ่อแม่ในเกือบทุกรูปแบบ ทำให้วัยรุ่นเกิดความรู้สึกสับสน สองจิตสองใจ การเลี้ยงดูจึงต้องอาศัยความเข้าใจ และเคารพในสิทธิส่วนบุคคลด้วย
6. ความอยากรู้อยากเห็นและอยากลอง การลองผิดลองถูก
และคอยสังเกตดูจากปฏิกิริยาของคนรอบข้าง เพื่อตัดสินว่าสิ่งที่ทำนั้น ดีเลวเป็นอย่างไร
การสนับสนุนส่งเสริมเด็กให้คงสภาพอยากรู้ อยากเห็น อยากลองและได้มีโอกาสทดลองสิ่งแปลกๆ
ใหม่ๆ ในขอบเขตที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นตามวัย จะทำให้เด็กก้าวเข้าสู่วัยรุ่นด้วยความภาคภูมิใจ
7. ความถูกต้อง ยุติธรรม เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนกลาง มักจะถือว่าความยุติธรรมเป็นลักษณะหนึ่งของความเป็นผู้ใหญ่
วัยรุ่นจึงให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับความถูกต้อง ยุติธรรมตามทัศนะของตนเป็นอย่างยิ่ง
และอยากจะทำอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ทั้งในแง่บุคคลและสังคมส่วนรวม
จึงมักจะเห็นภาพวัยรุ่นถกเถียงกันเรื่องของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว
8. ความตื่นเต้น ท้าทาย ความต้องการหาประสบการณ์แปลกๆ
ใหม่ๆ เกลียดความจำเจซ้ำซาก วัยรุ่นกลุ่มนี้จะสร้างความตื่นเต้นท้าทายกับการที่กระทำผิดต่อกฎเกณฑ์ต่างๆ
ของทางบ้านและกฎของสังคม
แนวทางการเลี้ยงดูเด็กฝึกให้เด็กได้มีโอกาสทำงานที่ท้าทายความสามารถทีละน้อยอยู่ตลอดเวลา
จะส่งผลทำให้เด็กได้พัฒนาความเชี่ยวชาญขึ้นมาได้ แก้ปัญหาได้
9. ความต้องการการยอมรับ
ว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ของกลุ่มเพื่อน พื้นฐานการเลี้ยงดูที่ยอมรับและมีความรักความผูกพันระหว่างพ่อแม่เด็ก
การฝึกฝนให้โอกาสเด็กในการตัดสินใจลงมือกระทำหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ และรับฟัง
พยายามทำความเข้าใจ ถ้าเบี่ยงเบนก็ช่วยแก้ไข ถ้าถูกต้องก็ชมเชยและชื่นชม จะกระตุ้นให้เด็กเกิดความรู้สึกเป็นที่ยอมรับจากบุคคลภายในบ้าน
ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กอยากเป็นที่ยอมรับจากเพื่อน จากครูและจากคนอื่นๆ ต่อๆ ไป จึงเป็นเหตุผลจูงใจกระทำความดีมากขึ้นๆ
4) พัฒนาการทางสติปัญญา เชาว์ปัญญาของเด็กวัยแรก
รุ่นจะเห็นได้จากความสามารถในการใช้เหตุผลเข้าใจความหมายของคำพูดได้ถูกต้อง
และสามารถให้คำจำกัดความแก่คำที่เป็นนามธรรม ได้
ในระหว่างวัยก่อนรุ่นนี้เด็กสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น
ความสนใจในการเล่นทายปัญหาจะมีมากที่สุดในวัยนี้
การเปลี่ยนแปลงทางระบบความคิดมีมากขึ้นตามวัย ภายในขอบเขตของพันธุกรรมที่ได้รับมา เชาว์ปัญญาพัฒนาจากการได้ใช้สมองบ่อยๆ
ดังนั้นในการวัดความสามารถของเด็ก
ครูควรคำนึงถึงพื้นเดิมทางพันธุกรรมและประสบการณ์ที่ผ่านมาของเด็กด้วย
เด็กสมองช้าจะไม่ใคร่มีสมาธิในการทำงานที่ยากขึ้น
ทำงานได้ผลน้อยกว่าเด็กปกติ
ถ้าเด็กมีความสามารถในการใช้คำพูดที่เป็นนามธรรมสูง ก็จะเห็นได้ว่าเป็นเด็กฉลาด
สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆได้
มีความคิดสร้างสรรค์รู้จักคิดเองรักการอ่าน มีอารมณ์มั่นคง ฯลฯ คุณสมบัติเหล่านี้จะแสดงออกให้เห็นตั้งแต่วัยต้นๆ
มีความสามารถสูงในการพิจารณาตัดสินใจด้วยตนเองและสามารถแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้
เด็กวัยก่อนรุ่นที่ฉลาดความมีอิสระที่จะวางโครงการศึกษาด้วยตนเอง
วางความมุ่งหมายของกิจกรรมและแกปัญหาด้วยตัวเอง ควรจัดเด็กฉลาดเข้าชั้นพิเศษเพื่อส่งเสริมความสามารถพิเศษที่เขามีอยู่
คุณลักษณะหลายประการที่ควรปลูกฝังให้มีในวัยแรกรุ่น ได้แก่
การให้ความร่วมมือ รู้จักรับผิดชอบ ความเมตตา ความ ยุติธรรม ความไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น
ความซาบซึ้งในความงาม และความคิดสร้างสรรค์ ในระหว่างวัยนี้
เด็กจะสามารถควบคุมตนเองได้มากขึ้น ถ้าผิดพลาดจะกระวนกระวายใจ
และจะทำตัวให้เข้ากับสังคมได้มากขึ้น ความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กได้มาจากการที่เพื่อนยอมรับเข้ากลุ่มเขาจะพยายามทำตนให้เหมือนเพื่อนและสร้างแนวทางของตนเองขึ้น
สรุป
วัยเด็กตอนปลาย (Late child hood) หรือวัยแรกรุ่น
(10-13 ปี)
มีธรรมชาติการเรียนรู้และพัฒนาการการเปลี่ยนแปลง
มี 4 ด้าน คือ พัฒนาการทางร่างกาย
สังคมจิตใจ และสติปัญญา
เด็กวัยแรกรุ่นมีอัตราความเจริญเติบโตแตกต่างกัน
เด็กหญิงจะเติบโตเร็วกว่าเด็กชายประมาณ 1-2 ปี เด็กหญิงแตกเนื้อสาวอายุ 10-13 ปี
และเด็กชายแตกเนื้อหนุ่มระหว่างอายุ 14-15 ปี
ก่อนจะถึงระยะแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาว เด็กจะมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วอยู่ประมาณ 1-2
ปี
และอัตราการเจริญเติบโตคงเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุดเมื่อเข้าสู่วัยแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาว
หลังจากนี้อัตราการเจริญเติบโตจะค่อยช้าลง และเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
ปัญหาของเด็กวัยแรกรุ่นเกิดขึ้นเพราะเด็กมีการเจริญเติบโตเข้าสู่วัยแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาวไม่พร้อมกัน
ทำให้เกิดปัญหาทางอารมณ์และสังคม
การมีร่างกายเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาพผู้ใหญ่เรื่อยๆทำให้เด็กมีความกังวลใจเกี่ยวกับรูปร่างของตนเอง
ต้องการได้ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่ม และไม่ต้องการพึ่งผู้ใหญ่
กลุ่มหรือคณะมีอิทธิพลยิ่งกับเด็กวัยนี้
แต่เป็นวัยที่ทั้งสองเพศเริ่มแยกกันเล่นและแยกกันทำกิจกรรม
ทั้งสองเพศเริ่มทำตัวเป็นศัตรูต่อกัน
ความสนใจแตกต่างกันพัฒนาการทางปัญญาเป็นผลจากที่เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
และมีความสามารถในการอ่านเพิ่มขึ้น