วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

การนิเทศการศึกษา

การนิเทศการศึกษา
จริยา  ทองหอม
18 ตุลาคม 2562



                 เกริ่นนำ...สำหรับผู้สอบบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ปี 2562 ที่ผ่านการคัดเลือกจากการสอบข้อเขียน การประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง และรอการพัฒนาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ที่นับวันรอว่า...เมื่อไหร่จะมีการดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนในการพัฒนาตามหลักการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ปี พ.ศ. 2562   
                วันนี้จึงสืบค้นความรู้เบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับศึกษานิเทศก์มานำเสนอ ดังนี้               



1.   ความหมายการนิเทศการศึกษา
                     จากการศึกษาแนวคิดของนักการศึกษาหลายท่านทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เกี่ยวกับความหมายของการนิเทศการศึกษา สรุปได้ว่า การนิเทศการศึกษา หมายถึง กระบวนการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยความร่วมมือระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ ตามแนวทางของประชาธิปไตยที่เน้นการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ และผู้รับการนิเทศยอมรับเพื่อประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา

2.   จุดมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษา
                     งานนิเทศการศึกษาเป็นงานที่ปฏิบัติกับครู เพื่อให้เกิดผลต่อคุณภาพผู้เรียนโดยตรง โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ
                     2.1     เพื่อช่วยพัฒนาความสามารถของครูผู้สอน
                     2.2     เพื่อช่วยให้ครูสามารถวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง
                     2.3     เพื่อช่วยให้ครูค้นหาวิธีการทำงานด้วยตนเอง
                     2.4     เพื่อช่วยให้ครูมีความศรัทธาในวิชาชีพของตน
                     2.5     เพื่อช่วยให้ครูมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ
                     2.6     เพื่อช่วยให้ครูมีทักษะในการปฏิบัติงาน เช่น การพัฒนาหลักสูตร การปรับปรุงการเรียนการสอน การใช้และผลิตสื่อการสอน การวัดและประเมินผล เป็นต้น
                     2.7     เพื่อช่วยครูให้สามารถทำวิจัยในชั้นเรียนได้



3.   บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นิเทศ
                     ผู้นิเทศมีภาระหน้าที่หลายอย่างแต่หน้าที่หลักคือการช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริม การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และคุณภาพการสอน ซึ่งต้องเกี่ยวกับกับงานหลายด้านและบุคลากรหลายฝ่าย นักการศึกษาหลายท่านจึงได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้นิเทศไว้ ดังนี้
                     3.1     บทบาทเป็นผู้ประสาน (Coordinator) เช่น ประสานครูแต่ละระดับให้ช่วยเหลือ
ซึ่งกันและกัน ประสานชุมชน ผู้ปกครอง
                     3.2     บทบาทเป็นที่ปรึกษา (Consultant) โดยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนะแก่ครู และผู้รับการนิเทศทั่วไป
                     3.3     บทบาทเป็นผู้นำกลุ่ม (Group Leader) คือ รู้วิธีที่จะทำงานร่วมกับกลุ่มให้ประสบผลสำเร็จ
                     3.4     บทบาทเป็นผู้ประเมิน (Evaluator) ได้แก่ เป็นผู้ประเมินผลการสอน ประเมินผลหลักสูตร
                     3.5     บทบาทในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร ด้านการเรียนการสอน ด้านการวัดประเมินผล
                     3.6     บทบาทเป็นนักวิจัย เป็นผู้ที่นำผลการวิจัยเสนอแนะให้ครูใช้ และดำเนินการวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยปฏิบัติการ
                     3.7     บทบาทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยการช่วยเหลือให้ครูมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงพัฒนา
                     3.8     เป็นครูต้นแบบ คือ สามารถสาธิตการสอนที่มีประสิทธิภาพแก่ครู และแนะนำวิธีการสอนแก่ครูได้

4.   งานการนิเทศการศึกษา
                     งานนิเทศการศึกษาเป็นการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีขอบข่ายงานที่สำคัญ ดังนี้
                     4.1     งานการให้ความช่วยเหลือครูโดยตรง (Direct Assistance) โดยผู้นิเทศจะให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ครู เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนด้วยวิธีการนิเทศแบบต่าง ๆ เช่น การนิเทศแบบคลินิก
                     4.2     งานพัฒนาบุคลากร (Staff Development) โดยการจัดโอกาสให้ได้รับการเรียนรู้ เพื่อให้ครูสามารถปรับปรุงการเรียนการสน เช่น การจัดประชุม อบรม เยี่ยมชั้นเรียน แนะนำวิธีสอน สาธิตการสอน ตลอดทั้งการประเมินครู เป็นต้น
                     4.3     งานการพัฒนาหลักสูตร (Curriculum Development) โดยผู้นิเทศและครูควรร่วมกันในการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสม เช่น การคัดเลือกและจัดเนื้อหาสาระกิจกรรมการเรียนรู้ การตรวจสอบคัดเลือกประเมินสื่อการเรียนการสอนแต่กลุ่มสาระ เป็นต้น
                     4.4     งานการบริหาร (Administration) โดยผู้นิเทศจะต้องดำเนินงานที่ต้องมีการตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ เพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน นั่นคือผู้นิเทศต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน ติดตามผลการดำเนินงาน ตลอดทั้งการประเมินผลการปฏิบัติงาน
                     4.5     งานการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยผู้นิเทศสามารถช่วยให้ครูสามารถประเมินผลการสอนของตนเอง ปรับปรุงพัฒนาการสอนของตนเองได้ โดยการช่วยครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน
                     4.6     งานด้านการวัดและประเมินผล ได้แก่ การประเมินคุณภาพของผู้เรียน การให้ข้อเสนอแนะครูให้สามารถสร้างเครื่องมือวัดและประเมินผลได้อย่างเหมาะสม และดำเนินการวัดประเมินได้อย่างมีคุณภาพ
  

5.   กิจกรรมการนิเทศ
                     กิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการนิเทศการศึกษา คือ เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการปฏิบัติงานของครู  ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการนิเทศบรรลุเป้าหมาย กิจกรรมการนิเทศมีมากมาย ซึ่งผู้นิเทศสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของการนิเทศแต่ละครั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ครูและนักเรียน ดังนั้นผู้นิเทศจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมการนิเทศ โดยจะขอนำเสนอกิจกรรมการนิเทศที่สำคัญและใช้มาก 23 กิจกรรม ดังนี้
                     5.1     การบรรยาย (Lecturing) เป็นกิจกรรมที่เน้นการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจของผู้นิเทศไปสู่รับการนิเทศ ใช้เพียงการพูดและการฟังเท่านั้น
                     5.2     การบรรยายโดยใช้สื่อประกอบ (Visualized Lecturing) เป็นการบรรยายที่ใช้สื่อเข้ามาช่วย เช่น สไลด์ แผนภูมิ แผนภาพ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังมีความสนใจมากยิ่งขึ้น
                     5.3     การบรรยายเป็นกลุ่ม (Panel presenting) เป็นกิจกรรมการให้ข้อมูลเป็นกลุ่มที่มีจุดเน้นที่การให้ข้อมูลตามแนวความคิดหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
                     5.4     การให้ดูภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ (Viewing film and television) เป็นการใช้เครื่องมือที่สื่อทางสายตา ได้แก่ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอเทป เพื่อทำให้ผู้รับการนิเทศได้รับความรู้และเกิดความสนใจมากขึ้น
                     5.5     การฟังคำบรรยายจากเทป วิทยุ และเครื่องบันทึกเสียง (Listening to tape, radio recordings) กิจกรรมนี้เป็นการใช้เครื่องบันทึกเพื่อนำเสนอแนวความคิดของบุคคลหนึ่งไปสู่ผู้ฟังคนอื่น
                     5.6     การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวัสดุและเครื่องมือต่าง ๆ (Exhibiting materials and equipments) เป็นกิจกรรมที่ช่วยในการฝึกอบรมหรือเป็นกิจกรรมสำหรับงานพัฒนาสื่อต่าง ๆ
                     5.7     การสังเกตในชั้นเรียน (Observing in classroom) เป็นกิจกรรมที่ทำการสังเกตการปฏิบัติงานในสถานการณ์จริงของบุคลากร เพื่อวิเคราะห์สภาพการปฏิบัติงานของบุคลากร ซึ่งจะช่วยให้ทราบจุดหรือจุดบกพร่องของบุคลากร เพื่อใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานและใช้ในการพัฒนาบุคลากร
                     5.8     การสาธิต (Demonstrating) เป็นกิจกรรมการให้ความรู้ที่มุ่งให้ผู้อื่นเห็นกระบวนการและวิธีการดำเนินการ
                     5.9     การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured interviewing) เป็นกิจกรรมสัมภาษณ์ที่กำหนดจุดประสงค์ชัดเจนเพื่อให้ได้ข้อมูลต่าง ๆ ตามต้องการ
                     5.10  การสัมภาษณ์เฉพาะเรื่อง (Focused interviewing) เป็นกิจกรรมการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง โดยจะทำการสัมภาษณ์เฉพาะโรงเรียนที่ผู้ตอบมีความสามารถจะตอบได้เท่านั้น
                     5.11  การสัมภาษณ์แบบไม่ชี้นำ (Non-directive interview) เป็นการพูดคุยและอภิปราย หรือการแสดงแนวความคิดของบุคคลที่สนทนาด้วย ลักษณะการของการสัมภาษณ์จะสนใจกับปัญหาและความสนใจของผู้รับการสัมภาษณ์
                     5.12  การอภิปราย (Discussing) เป็นกิจกรรมที่ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งเหมาะสมกับกลุ่มขนาดเล็ก มักใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ
                     5.13  การอ่าน (Reading) เป็นกิจกรรมที่ใช้มากกิจกรรมหนึ่ง สามารถใช้ได้กับคนจำนวนมาก เช่น การอ่านข้อความจากวารสาร มักใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่น
                     5.14  การวิเคราะห์ข้อมูลและการคิดคำนวณ (Analyzing and calculating) เป็นกิจกรรมที่ใช้ในการติดตามประเมินผล การวิจัยเชิงปฏิบัติการและการควบคุมประสิทธิภาพการสอน
                     5.15  การระดมสมอง (Brainstorming) เป็นกิจกรรรมที่เกี่ยวข้องกับการเสนอแนว ความคิดวิธีการแก้ปัญหาหรือใช้ข้อแนะนำต่าง ๆ โดยให้สมาชิกแต่ละคนแสดงความคิดโดยเสรี ไม่มีการวิเคราะห์หรือวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด
                     5.16  การบันทึกวิดีโอและการถ่ายภาพ (Videotaping and photographing) วิดีโอเทปเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นรายละเอียดทั้งภาพและเสียง ส่วนการถ่ายภาพมีประโยชน์มากในการจัดนิทรรศการ กิจกรรมนี้มีประโยชน์ในการประเมินผลงานและการประชาสัมพันธ์
                     5.17  การจัดทำเครื่องมือและแบบทดสอบ (Instrumenting and testing) กิจกรรมนี้เกี่ยวข้องกับการใช้แบบทดสอบและแบบประเมินต่าง ๆ
                     5.18  การประชุมกลุ่มย่อย (Buzz session) เป็นกิจกรรมการประชุมกลุ่มเพื่ออภิปรายในหัวข้อเรื่องที่เฉพาะเจาะจง มุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มมากที่สุด
                     5.19  การจัดทัศนศึกษา (Field trip) กิจกรรมนี้เป็นการเดินทางไปสถานที่แห่งอื่น เพื่อศึกษาดูงานที่สัมพันธ์กับงานที่ตนปฏิบัติ
                     5.20  การเยี่ยมเยียน (Intervisiting) เป็นกิจกรรมที่บุคคลหนึ่งไปเยี่ยมและสังเกตการทำงานของอีกบุคคลหนึ่ง
                     5.21  การแสดงบทบาทสมมติ (Role playing) เป็นกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของบุคคล กำหนดสถานการณ์ขึ้นแล้วให้ผู้ทำกิจกรรมตอบสนองหรือปฏิบัติตนเองไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น
                     5.22  การเขียน (Writing) เป็นกิจกรรมที่ใช้เป็นสื่อกลางในการนิเทศเกือบทุกชนิด เช่น การเขียนโครงการนิเทศ การบันทึกข้อมูล การเขียนรายงาน การเขียนบันทึก ฯลฯ
                     5.23  การปฏิบัติตามคำแนะนำ (Guided practice) เป็นกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติในขณะที่ปฏิบัติมีการคอยดูแลช่วยเหลือ มักใช้กับรายบุคคลหรือกลุ่มขนาดเล็ก



6.   กระบวนการในการนิเทศ  (Supervisory Process)
                     กระบวนการในการนิเทศการศึกษา หมายถึง แบบแผนของการนิเทศการศึกษาที่จัด ลำดับไว้อย่างต่อเนื่อง เป็นระเบียบแบบแผน มีลำดับขั้นตอนในการดำเนินงานไว้ชัดเจน มีเหตุผลและสามารถดำเนินการได้ โดยมีนักการศึกษาหลายท่านได้นำเสนอกระบวนการในการนิเทศไว้หลายท่าน แต่ในที่นี้ขอนำเสนอกระบวนการนิเทศที่สำคัญ ดังนี้
                     6.1     กระบวนการนิเทศ ของ สงัด  อุทรานันท์  (2530) เป็นกระบวนการนิเทศที่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย  เรียกว่า “PIDER” มี  5 ขั้นตอน  ดังนี้
                                 (1)     การวางแผน (P-Planning) เป็นขั้นตอนที่ผู้บริหาร ผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศจะทำการประชุม ปรึกษาหารือ เพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหาและความต้องการจำเป็นที่ต้องมีการนิเทศ รวมทั้งวางแผนถึงขั้นตอนการปฏิบัติเกี่ยวกับการนิเทศที่จัดขึ้น
                                (2)     ให้ความรู้ก่อนดำเนินการนิเทศ (I-Informing) เป็นขั้นตอนของการให้ความรู้ ความเข้าใจถึงสิ่งที่จะดำเนินการว่าต้องอาศัยความรู้ ความสามารถอย่างไรบ้าง จะมีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไร และจะดำเนินการอย่างไรให้ผลงานออกมาอย่างมีคุณภาพ ขั้นตอนนี้จำเป็น
ทุกครั้งสำหรับเริ่มการนิเทศที่จัดขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม และเมื่อมีความจำเป็นสำหรับงานนิเทศที่ยังเป็นไปไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่ถึงขั้นที่พอใจ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องทบทวนให้ความรู้
ในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง
                                (3)     การดำเนินการนิเทศ (D-Doing) ปะกอบด้วยการปฏิบัติงาน 3 ลักษณะ คือ การปฏิบัติงานของผู้รับการนิเทศ (ครู) การปฏิบัติงานของผู้ให้การนิเทศ (ผู้นิเทศ) การปฏิบัติงานของผู้สนับสนุนการนิเทศ (ผู้บริหาร)
                                (4)     การสร้างเสริมขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานนิเทศ (R-Reinforcing) เป็นขั้นตอนของการเสริมแรงของผู้บริหาร ซึ่งให้ผู้รับการนิเทศมีความมั่นใจและบังเกิดความพึงพอใจในการปฏิบัติงานขั้นนี้อาจดำเนินไปพร้อม ๆ กับผู้รับการนิเทศที่กำลังปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติงานได้เสร็จสิ้นแล้วก็ได้
                                (5)     การประเมินผลการนิเทศ (E-Evaluating) เป็นขั้นตอนที่ผู้นิเทศนำการประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านไปแล้วว่าเป็นอย่างไร หลังจากการประเมินผลการนิเทศ หากพบว่ามีปัญหาหรือมีอุปสรรคอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้การดำเนินงานไม่ได้ผล สมควรที่จะต้องปรับปรุง แก้ไข ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขอาจทำได้โดยการให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่ปฏิบัติใหม่อีกครั้ง ในกรณีที่ผลงานยังไม่ถึงขั้นน่าพอใจ หรือได้ดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานทั้งหมดไปแล้ว ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องการ สมควรที่จะต้องวางแผนร่วมกันวิเคราะห์หาจุดที่ควรพัฒนา หลังใช้นวัตกรรมด้านการเรียนรู้เข้ามานิเทศ

6.2 กระบวนการนิเทศโดยใช้วงจรของเดมมิง (Circle Demming Cycle)
                     การนำวงจรเดมมิง (Demming circle) หรือโดยทั่วไปนิยมเรียกกันว่า  P-D-C-A 
มาใช้ในการดำเนินการนิเทศการศึกษา โดยมีขั้นตอนที่สำคัญ 4 ขั้นตอน คือ
                  1.    การวางแผน (P-Plan)
                         1.1     การจัดระบบข้อมูลสารสนเทศ
                         1.2     การกำหนดจุดพัฒนาการนิเทศ
                         1.3     การจัดทำแผนการนิเทศ
                         1.4     การจัดทำโครงการนิเทศ
                  2.    การปฏิบัติงานตามแผน (D-Do)
                         2.1     การปฏิบัติตามขั้นตอนตามแผน/โครงการ
                         2.2     การกำกับติดตาม
                         2.3     การควบคุมคุณภาพ
                         2.4     การรายงานความก้าวหน้า
                         2.5     การประเมินความสำเร็จเป็นระยะ ๆ
                  3.    การตรวจสอบและประเมินผล (C-Check)
                         3.1     กำหนดกรอบการประเมิน
                         3.2     จัดหา/สร้างเครื่องมือประเมิน
                         3.3     เก็บรวบรวมข้อมูล
                         3.4     วิเคราะห์ข้อมูล
                         3.5     สรุปผลการประเมิน
                  4.    การนำผลการประเมินมาปรับปรุงงาน (A-Act)
                         4.1     จัดทำรายงานผลการนิเทศ
                         4.2     นำเสนอผลการนิเทศและเผยแพร่
                         4.3     พัฒนาต่อเนื่อง
  

                สุดท้าย...ขอให้เพื่อนๆ อดทนกับการรอคอย  และขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษานิเทศก์ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนการรับสมัครให้ครบทุกขั้นตอนก่อนจะเปิดเทอมในเดือนพฤศจิกายน เพราะพวกเราไม่รู้ว่าควรจะอยู่  ณ จุดใด
  


ที่ม :  ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา  สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2562
จาก  https://ladapaja.files.wordpress.com/2012/01/word_activity.doc 
จริยา  ทองหอม. (2562 ตุลาคม 18). การนิเทศการศึกษา. จาก  https://tonghom2009.blogspot.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น