วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for sustainable development.)



การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
 (Education for sustainable development.)
โดย... จริยา  ทองหอม



1.  บทนำ
                การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตเพราะเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์พัฒนาคุณภาพชีวิตของตน  ทำให้เป็นผู้รู้จักคิด  รู้จักทำ  รู้จักแก้ปัญหาและมีส่วนในการกำหนดทิศทางของสังคม  เพราะการศึกษามีความสำคัญในการเสริมสร้างภูมิปัญญาให้แก่คนที่อยู่รวมกันเป็นสังคม  เป็นชาติ  ดังนั้น  การศึกษาจึงเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างภูมิปัญญาของชาติ (วันชัย  อนัยตโนมุท, 2542. อ้างถึงใน ชาคริต  อาชวอำรุง, 2554 : 1) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมืองและอื่นๆ  อีกต่อไป
                หากมีการจัดการศึกษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสังคมไทยแล้ว  จะทำให้การศึกษาไทยเป็นการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ  ก่อให้เกิดคุณูปการแก่ประเทศชาติเป็นอันมาก  ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  ได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการศึกษาไว้ในวโรกาสต่างๆมากมาย  ซึ่งผู้วิจัยได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทในบางตอนมาแสดงไว้เป็นตัวอย่าง  เช่น
                "...งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ  เพราะความเจริญและความเสื่อม     ของชาตินั้น  ขึ้นอยู่กับการศึกษาของชาติเป็นข้อใหญ่..."
                "...ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของทั้งชีวิตและส่วนรวม  คือ  การศึกษาซึ่งเป็นรากฐานส่งเสริม    ความมั่นคงเกือบทุกอย่างในบุคคลและประเทศชาติ..."
                "...สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนพอเหมาะกันทุกด้าน  สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ  ซึ่งสามารถจะธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้  และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้ตลอด..."

(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2540)

          ด้วยเหตุนี้นักวิชาการทางการศึกษาไทยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไทยจึงพยายามหาหนทาง หรือแนวทางที่จะนำมาใช้กับการจัดระบบการศึกษาของไทย  และแนวทางที่หลายฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม       ที่จะนำมาใช้กับการจัดระบบการศึกษาของไทยมากที่สุดคือ  ปรัชญาการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ    พุทธธรรม (จิตกร  ตั้งเกษมสุข, 2525. อ้างถึงใน ชาคริต  อาชวอำรุง, 2554 : 2) ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมและค่านิยมอันดีงามของไทยได้เพราะคำสอนของศาสนามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนไทย  มีทั้งหลักคำสอนและหลักปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  ดังนั้นแนวทางการจัดการศึกษาที่พึงประสงค์ของคนไทยไม่ควรเป็นไปเพื่อตอบสนองเป้าหมาย ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว  แต่การศึกษานำหน้าเศรษฐกิจ (พระเทพโสภณ, 2546. อ้างถึงใน ชาคริต   อาชวอำรุง, 2554 : 2) นั้นคือ  การศึกษามีไว้เพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (พุทธทาสภิกขุ, 2527.  อ้างถึงใน ชาคริต  อาชวอำรุง, 2554 : 2) ทั้งร่างกายและจิตใจ

2.  วัตถุประสงค์ในการรายงาน
                1.  เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และ รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่  เกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
                2.  เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และแนวคิดของ รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่ 

3.  คำจำกัดความที่ใช้ในรายงาน
                การวิเคราะห์แนวคิด  หมายถึง  การแยกความคิดเห็นหรือความเชื่อออกเป็นส่วนๆให้เห็นถึงเหตุผลและวัตถุประสงค์ที่ผู้แสดงความคิดเห็นหรือความเชื่อนั้นๆออกมาแล้วระบุความสัมพันธ์และความสอดคล้องระหว่างส่วนต่างๆเหล่านั้น
          การจัดการศึกษา  หมายถึง  กระบวนการที่ทำให้บุคคลมีการแสวงหาความรู้ ความสามารถใน     การพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  เป็นผู้สร้างสันติสุข  ความเจริญงอกงามให้แก่ประเทศชาติและสังคมโลก
                การพัฒนาที่ยั่งยืน  หมายถึง  การพัฒนาที่ประสานและเกื้อกูลกันระหว่างองค์ประกอบต่างๆ  ได้แก่  มนุษย์  สังคม  และธรรมชาติ

4.   สังเขปสาระสำคัญ
                ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาประเทศมาก  ไม่ว่าปัญหาสังคม  ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม  ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้น   เพื่อช่วยแก้ปัญหาและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550  กำหนดแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินในมาตรา 78(1) ว่ารัฐจะต้องบริหารราชการแผ่นดินไปเพื่อการพัฒนาสังคม  เศรษฐกิจ  และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน (ชาคริต  อาชวอำรุง, 2554: 2)  แนวทางที่หลายฝ่ายเห็นว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับการจัดระบบการศึกษาของไทยมากที่สุดคือ  ปรัชญาการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพุทธธรรม ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมและค่านิยมอันดีงามของไทยได้เพราะคำสอนของศาสนามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนไทย  มีทั้งหลักคำสอนและหลักปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  ผู้รายงานได้วิเคราะห์และรวบรวมแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของบุคคลสำคัญในวงการศึกษาไทย 2 ท่าน คือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และรศ.ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่  เพื่อใช้เป็นแนวทางในพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทย  ดังนี้  

1.  แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
 1. 1  แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) 
จากการศึกษาผลงานของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  พบว่า  ท่านได้ให้แนวทาง
เกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าจะต้องเริ่มจากสร้างรากฐานความคิดใหม่ขึ้นมาก่อน  การฝึกฝนพัฒนาตนเองของมนุษย์เป็นหลักแกนกลางที่สำคัญที่สุด  และเครื่องวัดการพัฒนาของมนุษย์ที่แท้จริง คือ การมีความสามารถยิ่งๆขึ้นไปในการทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งทั้งหลายเกื้อกูลประโยชน์กันมากขึ้น  เบียดเบียนกันน้อยลง  ทำให้โลกอุดมสมบูรณ์  งดงาม  เหมาะแก่การอยู่อาศัยอย่างผาสุกมากยิ่งขึ้น  ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนามนุษย์จะต้องจัดให้มีการศึกษาเพราะการศึกษาหมายถึงการพัฒนาคน  ซึ่งได้ยอมรับแล้วว่าเป็นแกนกลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน (รูปที่ 1)    


รูปที่  1  แนวคิด เรื่อง  กระบวนการเรียนรู้ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)     
_________________
 ที่มา: ชาคริต  อาชวอำรุง. (2554: 140)

1.2.  แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ รศ. ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่  
                                จากการศึกษาเอกสารผลงานของ รศ.ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่ พบว่า  ท่านได้ให้แนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนว่า ปัจจุบันและอนาคตนั้นแตกต่างไปจากอดีดโดยสิ้นเชิง  พลังขับเคลื่อนกระแสโลก คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  Website, Social  network, Internet  ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั่วโลก ทำให้เกิดภาวะการแข่งขัน  การร่วมมือ  และการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  และการศึกษาที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากร (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 1) 
                การเรียนรู้ในโลกอนาคต มีลักษณะเป็นการเรียนแบบ Multi  Disciplinary  Team จะสอนให้เราต้องเรียนรู้ที่จะทำงานกับคนทุกคนทุกประเภทเป็นทีมและการเรียนรู้แบบกว้าง liberal Arts (ศิลปวัฒนธรรม  ประวัติศาสตร์  ภาษา  ดนตรี  ศาสนา  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ)  มีโครงการให้ทำร่วมกัน  วันนี้และอนาคตเราต้องทำงานกับคนหลากหลายความคิด  มาคิดร่วมกันแก้ปัญหาซับซ้อนของโลกในวันนี้และอนาคต  (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554 :2) 
                การศึกษาเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่  พร้อมที่จะเป็นผู้นำบนโลกที่ซับซ้อนในอนาคต (Navigating Complex World  Liberal  Arts)  สอนให้คนรู้จักสร้าง  มีความเชื่อ  คนที่รอบรู้จะเข้าใจโลก  เข้าใจการเปลี่ยนแปลง  เข้าใจคนได้มากกว่า  มีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่า  จะเป็นปัจจัยการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ  การศึกษาที่ดีคือการเรียนรู้ที่จะเรียน  เพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป  อะไรที่ดำรงอยู่ในวันนี้อาจล้าสมัยได้เสมอ  เพราะฉะนั้นการมีวิสัยทัศน์กว้างไกล  จะช่วยให้เราพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  ได้เสมอ  ทำอะไรใหม่ๆเสมอ  ทุกวันคือการเรียนรู้ใหม่และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 2)  (รูปที่ 2)    


รูปที่  2  แนวคิด   ปัจจัยการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ของ  รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่ 
______________________________
ที่มา:  วิชัย วงษ์ใหญ่ และมารุต  พัฒผล. (2556: 61)

2.  รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
2.1  รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)    
                                จากการศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  สรุปได้ว่า
                1.  การศึกษาต้องมองในภาพรวม  ทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ  เพราะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลสูงต่อชีวิตของประชาชน
                2.  เป้าหมายของการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบคือการพัฒนามนุษย์
                3.  การจัดการศึกษาควรสนใจเรื่องวัฒนธรรม  เพราะวัฒนธรรมเป็นผลที่เกิดมาจากรูปแบบการศึกษาในอดีตที่มีผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันและยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ให้การศึกษาเองด้วย
                4.  สาระสำคัญของรูปแบบการศึกษาประกอบด้วยบุคคล  2  ฝ่าย  คือ  ครู  ผู้ให้การศึกษา  กับ ศิษย์  ผู้รับการศึกษา 
                การสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  สรุปแนวทางการสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) จะต้องส่งเสริมปัจจัยต่างๆที่จะเอื้อให้บุคคลเกิดการเรียนรู้  ได้แก่  1)  ส่งเสริมโพธิศรัทธา  2)  ส่งเสริมให้เกิดบุพนิมิตรแห่งมรรคหรือปัจจัยแห่งสัมมาทิฎฐิ ทั้ง 7  ข้อ  3)  ปลูกฝังให้ประชาชนมีความสันโดษในทางที่ถูกต้อง  คือ สันโดษหรือพึงพอใจในวัตถุเสพบริโภคต่างๆให้มีเท่าที่จำเป็น  4)  หมั่นเตือนสติตนเอง
                 แนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับกลุ่มเป้าหมาย  จากการศึกษางานเขียน  ประวัติชีวิตและการสัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคคลทั่วไปให้เกิดการเรียนรู้  5.1)  สำหรับบุคคลทั่วไป  5.2)  สำหรับเด็กและเยาวชน ดังนี้
                1)  สำหรับบุคคลทั่วไป ได้แก่  1)  ทุกคนควรมีคติชีวิตที่กระตุ้นให้ตัวเองเรียนรู้และพัฒนาตลอดเวลา  2) หัดเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตัวเอง  หมั่นตรวจสอบตัวเองในด้านต่างๆว่าได้ทำสิ่งที่ควรทำหรือไม่  3)  พัฒนาตนเองในด้านพฤติกรรมและความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างเกื้อกูล สร้างสรรค์ หรือพัฒนาศีล ให้ครบทั้ง 4 หมวด  4)  ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท
                2)  สำหรับเด็กและเยาวชน  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนมากเป็นพิเศษ  โดยท่านได้ให้หลักปฏิบัติสำหรับเด็กและเยาวชน  ดังนี้  1)  สร้างให้เกิดความเคยชินที่ดี  โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระดับศีล  เน้นความมีระเบียบวินัย  รู้จักใช้ชีวิตอย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติ  และรู้จักประมาณในการบริโภคหรือรู้จักบริโภคให้ได้คุณค่าแท้   2)  ฝึกเด็กให้เกิดฉันทะโดยฝึกให้เรียนรู้ได้จากทุกสถานการณ์  มีความสุข  และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง   3)  พัฒนาให้เด็กและเยาวชนเกิดโยนิโสมนสิการ  หรือมีความสามารถในการคิด  สามารถกระทำได้โดยให้อิสระในการคิดกับเด็ก  ไม่บังคับหรือครอบงำความคิด  มุ่งเน้นให้ความรู้  ส่งเสริมแค่ให้ติดอยู่กับความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ  และพัฒนาจิตสำนึกทางการศึกษา
                แนวคิดด้านผู้จัดการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  สำหรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านผู้จัดการศึกษา  พบว่า พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้แบ่งผู้จัดการศึกษาออกเป็น  5 กลุ่ม  ได้แก่  พ่อแม่  ครูอาจารย์  รัฐและสังคม  สถาบันการศึกษา  และสื่อมวลชน
                แนวคิดด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  แนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) สรุปได้ดังนี้
                1.   แนวทางสำหรับการจัดการเรียนรู้  ได้แก่  7.1.1)  พัฒนาฉันทะและจิตสำนึกแห่งการศึกษา  7.1.2)  ฝึกให้มีโยนิโสมนสิการหรือฝึกการคิด  7.1.3) ส่งเสริมกิจกรรมทางการศึกษา  7.1.4)  ควรใช้นิทานและการเล่นเป็นสื่อไปสู่ปัญญา  สำหรับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน  7.1.5)  ฝึกระเบียบวินัยตั้งแต่เด็ก
                2.  แนวทางสำหรับการประเมินผลการเรียนรู้  ได้แก่  7.2.1)  หลักภาวนา   7.2.2)  การพัฒนาความเห็นที่ถูกต้อง  7.2.3)  การทำประโยชน์เพื่อตนเองและผู้อื่น  รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายของชีวิต  7.2.4)  ความสามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติ
รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  สรุปได้ดังรูปที่ 3




รูปที่  3  รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)   
_________________
ที่มา: ชาคริต  อาชวอำรุง. (2554: 209)


2.2  รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ รศ.ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่ 
จากการศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ รศ.ดร.วิชัย 
วงษ์ใหญ่   พบว่า คุณค่าที่แท้จริงของการเรียนรู้ คือ คุณภาพด้านในคุณภาพความเป็นมนุษย์  ความรู้อาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อไปอีก  ทักษะบางอย่างอาจจะไม่เพียงพอ  สิ่งที่จะทำให้เรามีชีวิตรอดในอนาคต  คือ คุณภาพความเป็นมนุษย์  ซึ่งประกอบด้วย ความรัก  ความเมตตา  ความกล้าหาญ  ความสามารถในการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ  รวมทั้งการมีสติและความสงบภายในจิตใจ  สิ่งที่ต้องเรียนรู้ในอนาคตเป็นปัจจัยทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน  ได้แก่  1) ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากมาย เกิดขึ้นในโลก  เทคโนโลยีก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  2)  การเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้เพิ่มขึ้นทุกวัน  ความรู้ที่มีอยู่แล้วและใช้ได้ในวันนี้  อาจจะล้าสมัยในวันพรุ่งนี้  และ 3) สิ่งที่เราควรจะเรียนรู้คือวิธีการแสวงหาความรู้  การคิดสร้างสรรค์  การแก้ปัญหาเชิงอนาคต (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 3) 
                การจัดการศึกษายุคใหม่สู่ความเป็นพลเมืองจำเป็นต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งการมีส่วนร่วมมี  5  ระดับ  ได้แก่  1) การแบ่งปันข้อมูล (Inform )  2) การปรึกษาหารือ (Consult ) 3) การเข้ามาเกี่ยวข้อง (    Involve )   4) การร่วมมือ (Collaboration )  และ 5) การเสริมพลังอำนาจ (Empowerment ) (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 13) 
                สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีตเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกอย่างใกล้ชิด  การจัดการศึกษามุ่งพัฒนาจิตสำนึกความเป็นพลโลกและพัฒนาผู้เรียนเป็นพลเมืองของภูมิภาคของสังคมโลก  มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลเมืองของโลกที่อยู่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ  มีแนวคิดที่ดีต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ  ความสัมพันธ์  การแลกเปลี่ยนและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยใช้ความร่วมมือและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมซึ่งทำให้เกิดสันติสุขของโลก  เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Knowledge worker)  ที่มีลักษณะแสวงหาความรู้อยู่เสมอ  รู้เท่าทันสถานการณ์  การเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ดี  องค์ประกอบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  คือ  1) การเรียนรู้อย่างไร (learning how to learn)  2) การเป็นมนุษย์อย่างไร (learning how to be)  3) การมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติอย่างไร (learning how to live together)  และ 4) การดำรงชีพอย่างไร (learning how to do) (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 11) 
                การวัดและประเมินผล  เป็นเครื่องมือตรวจสอบผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อการวางแผนพัฒนาผู้เรียนตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามศักยภาพ  ควรยึดหลักการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง มีหลักการ 4  ประการ  ได้แก่  1)  ใช้ผู้ประเมินหลายๆคน  เช่น  ผู้เรียน  เพื่อน  ผู้สอน  และผู้เกี่ยวข้อง  2) ใช้วิธีการและเครื่องมือวัดหลายๆชนิด  เช่น  การสังเกต  การปฏิบัติจริง  การทดสอบ  และการรายงานตนเอง  3) วัดหลายๆ ครั้งในแต่ละช่วงเวลาของการเรียนรู้ เช่น ก่อนเรียน  ระหว่างเรียน สิ้นสุดติดตามผล  4) สะท้อนผลการประเมินสู่การพัฒนาผู้เรียน  สำหรับประเด็นการประเมินตามสภาพจริง  ยึดหลักองค์ประกอบ  3P ได้แก่  1) การประเมินผลผลิต (Product)  2) การประเมินกระบวนการ (Process)  3) การประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ (Progress)
รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ รศ.ดร.วิชัย วงษ์ใหญ่  สรุปได้ดังรูปที่  3



รูปที่ 4    รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ของ  รศ.ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่ 
______________________________
ที่มา:  วิชัย วงษ์ใหญ่ และมารุต  พัฒผล. (2556: 62)


5.  บทสรุป
                การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต   การศึกษามีความสำคัญในการเสริมสร้างภูมิปัญญาให้แก่คนที่อยู่รวมกันเป็นสังคม  เป็นชาติ  ในขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาประเทศมาก  ไม่ว่าปัญหาสังคม  ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม  แนวทางที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับการจัดระบบการศึกษาของไทยมากที่สุดคือ  ปรัชญาการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพุทธธรรม ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมและค่านิยมอันดีงามของไทยได้เพราะคำสอนของศาสนามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนไทย  มีทั้งหลักคำสอนและหลักปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  เพื่อใช้เป็นแนวทางในพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทย 
สรุปผลที่ได้จากการวิเคราะห์นวัตกรรมหลักสูตรและการสอน  เรื่อง  การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยการวิเคราะห์แนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และ รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่  เกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  และการวิเคราะห์รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และแนวคิดของ รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่  ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในวงการศึกษาไทย  ทำให้ค้นพบแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทย  ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบไทยๆ สู่การสร้างสรรค์สันติสุขในระดับสากลต่อไป

6.  ประเด็นปัญหาวิจัยที่น่าสนใจ
                1.  ควรมีการวิเคราะห์และรวบรวมแนวคิดของบุคคลสำคัญในวงการศึกษาไทยท่านอื่นๆ  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาและพัฒนาที่เหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทยจริงๆต่อไป  และหากมีการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดด้านการศึกษาและการพัฒนาของปราชญ์ชาวไทยหลายๆท่าน  อาจจะสังเคราะห์ให้เกิดแนวทางการพัฒนาในแบบของไทยซึ่งสามารถเป็นประโยชน์ในระดับนานาชาติต่อไป
2.  การจัดการศึกษาทุกระดับทุกรูปแบบควรให้ความสำคัญอย่างสมดุลทั้งเรื่อง วิชาการ  ทักษะ
ความรู้  กับการพัฒนาชีวิต  และการพัฒนาความสามารถในการใช้ชีวิตที่จะนำไปสู่ความผาสุกเกื้อกูลกันของทั้งสังคมและธรรมชาติ
                3.  ควรมีการจัดวางแนวทางและส่งเสริมให้เกิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในการใช้ชีวิตที่สงบสุขท่ามกลางธรรมชาติและสังคมโลก
4.  ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับรู้จักวิธีการหาความสุขในทางที่สร้างสรรค์  นอกเหนือจากการ
เสพบริโภค  เพื่อลดปัญหาการเบียดเบียน  โดยเฉพาะควรส่งเสริมให้คนทั่วไปมีความสุขจากการทำงานและการสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงามทุกระดับ



บรรณานุกรม

คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. (2540)  ในหลวงกับการศึกษาไทย : ห้าทศวรรษสิริราช  สมบัติ. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง.
ชาคริต  อาชวอำรุง. (2554การวิเคราะห์แนวคิด  เรื่อง  การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของ  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต). วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต         สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน  ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต  คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์     มหาวิทยาลัย. 
วิชัย  วงษ์ใหญ่.  (2554).  นวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนรู้สู่ความเป็นพลเมือง. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ บริษัทอาร์แอนด์ปริ้นท์  จำกัด.
วิชัย  วงษ์ใหญ่ และมารุต  พัฒผล. (2556).  ปรับพื้นฐานกระบวนทัศน์ การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้.                (Powerpoint) ปริญญาเอกสาขาการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 17  มิถุนายน  2556.





...............................................................................







วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

Models of teaching.


สรุปงานแปล : Models of teaching ของ Bruce Joyce, Marsha Weil and Emily Calhoun.
โดย... จริยา  ทองหอม



ความหมายของรูปแบบการสอน

รูปแบบการเรียนการสอนมีความหมายในลักษณะเดียวกับระบบการเรียนการสอน ซึ่งนักการศึกษาโดยทั่ว ไปนิยมใช้คำว่า ระบบในความหมายที่เป็นระบบใหญ่ ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญๆ ของการศึกษา หรือการเรียนการสอนในภาพรวม และนิยมใช้คำว่า รูปแบบกับระบบที่ย่อยกว่า โดยเฉพาะกับ วิธีการสอนในด้านความหมายของรูปแบบการสอน มีผู้ให้ความหมายไว้หลายแง่มุม ดังนี้
Joyce and Well (1992 : 1-4) กล่าวว่า รูปแบบการสอน คือ แผน (plan) หรือแบบ (pattern) ที่เราสามารถใช้เพื่อการสอนโดยตรงในห้องเรียนหรือการสอนเป็นกลุ่มย่อย หรือเพื่อจัดสื่อการเรียนการสอนซึ่งรวมถึงหนังสือ ภาพยนตร์ เทปบันทึกเสียง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและหลักสูตรรายวิชา ซึ่งแต่ละรูปแบบจะให้แนวทางในการออกแบบการเรียนการสอนที่จะช่วยให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆกัน รูปแบบการสอนคือ การบรรยายสิ่งแวดล้อมทางการเรียน รูปแบบการสอนก็คือ รูปแบบของการเรียนที่ช่วยผู้เรียนให้ได้รับสารสนเทศ ความคิด ทักษะคุณค่า แนวทางของการคิด และแนวทางในการแสดงออกของผู้เรียน  (ค้นคืนวันที่ 4 มกราคม 2557 จาก  http://sci-teachingmodel-tishafan.blogspot.com/p/blog-page_18.html)

ลักษณะของรูปแบบการสอน
จากการศึกษาพบว่า รูปแบบการสอน ควรมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. มีแนวคิดหรือหลักการพื้นฐาน รูปแบบการสอนจะต้องมีแนวคิดหรือหลักการพื้นฐานซึ่งอาจมาจากแนวคิดทางการศึกษา เช่น ให้ผู้เรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง มีกระบวนการเรียนรู้แบบสืบสอบ ทฤษฎีจิตวิทยาการเรียนรู้ เช่น มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคมควบคู่กันไป ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ หรือแนวคิดเกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ เป็นต้น  รูปแบบการสอนหนึ่งๆ อาจจะมีแนวคิดหรือหลักการพื้นฐานเพียงอย่างเดียว ดังเช่น รูปแบบการสอนส่วนใหญ่  Joyce and Well หรือมีแนวคิดมากกว่าหนึ่งได้ดังที่ Stern (1984 : 47) เสนอไว้ว่าแนวคิดของรูปแบบการสอนควรเป็นสหวิทยาการ (Multidisciplinary) แนวคิดหรือหลักการพื้นฐานนี้จะเป็นหลักหรือแนวทางในการเลือก กำหนดและจัดระเบียบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบให้สอดคล้อง ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กัน
2. มีองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ ลักษณะนี้จัดเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ผู้ออกแบบหรือผู้พัฒนารูปแบบการสอนจะต้องตระหนักถึงในการกำหนดตัวองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบให้เป็นไปอย่างเป็นเหตุเป็นผล และสอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานของรูปแบบ การกำหนดองค์ประกอบของรูปแบบการสอนจะขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์และความละเอียดรอบคอบของผู้พัฒนาที่จะต้องคิด วิเคราะห์ จนสามารถมองเห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบได้อย่างแจ่มชัด จนสามารถกำหนดองค์ประกอบและความสัมพันธ์ได้อย่างสมเหตุ สมผลและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของการสอนโดยทั่วไปองค์ประกอบของการสอนเฉพาะสาขา และจะต้องพิจารณากำหนดองค์ประกอบให้เหมาะสม คือ มีความสัมพันธ์และสงผลโดยตรงต่อการ เรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากนี้ Stern กล่าวว่า รูปแบบการสอนควรมีลักษณะของการให้ความสำคัญขององค์ประกอบทั้งหมดร่วมกัน(Multi factor view) กล่าวคือ ในรูปแบบการสอน องค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบจะมีความสำคัญทัดเทียมกัน องค์ประกอบทั้งหมดจะต้องมีบทบาทร่วมกันจึงจะทำให้รูปแบบการสอนนั้นๆ มีประสิทธิภาพตามต้องการได้ ซึ่งตัวอย่างของการกำหนดองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ ดังที่ ทิศนา แขมมณี (2550 : 3-4) ได้ยกตัวอย่างไว้ดังนี้ รูปแบบการสอนกระบวนการกลุ่มมาจากแนวคิดการให้ผู้เรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตนเอง ดังนั้นจึงกำหนดองค์ประกอบ กระบวนการให้มีการทำกิจกรรมของผู้เรียนเพื่อให้ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และองค์ประกอบวิธีสอนจะกำหนดให้ใช้การสอนแบบอปนัย (Inductive) ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ สรุปหลักการจากตัวอย่างหรือกิจกรรมที่ได้ทำด้วยตนเอง เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามแนวคิดหลักของรูปการสอน
3. มีการพัฒนาหรือออกแบบอย่างเป็นระบบ รูปแบบการสอนเป็นผลของการพัฒนาหรือออกแบบจัดองค์ประกอบอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และองค์ประกอบการสอนที่เกี่ยวข้อง กำหนดองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็น จัดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน นำแผนการจัดองค์ประกอบไปทดลองใช้สอนในห้องเรียนจริงเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ในการปฏิบัติและยืนยันผลที่เกิดขึ้นว่า สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการได้จริง จึงจะยอมรับได้ว่าการจัดองค์ประกอบนี้เป็นรูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพ
4. มีผลต่อพัฒนาการของผู้เรียนในด้านต่างๆ รูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นจะส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆของผู้เรียน ดังที่ Joyce and Well (1992 : 1-4) กล่าวไว้ว่ารูปแบบการสอนแต่ละแบบจะส่งผลต่อผู้เรียนต่างกันออกไปตามแนวคิดและหลักการของรูปแบบการสอนนั้น เช่น รูปแบบการสอนการฝึกการสืบสอบ (Inquiry training) มีเป้ าหมายเพื่อที่จะพัฒนากระบวนการคิดค้นด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการสืบเสาะหาความรู้หรือเป็นการมุ่งที่จะส่งผลให้ผู้เรียนมีกระบวนการ สืบสอบ (ค้นคืนวันที่ 4 มกราคม 2557 จาก  http://sci-teachingmodel-tishafan.blogspot.com/p/blog-page_3587.html)
  
ประเภทของรูปแบบการสอน
ประเภทของรูปแบบการสอน มีแตกต่างกันออกไป ตามแนวคิดของผู้จัด  ดังนี้
Joyce and Well (1992 : 80-88) ได้จัดประเภทของรูปแบบการสอนตามจุดเน้นหรือผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน รูปแบบการสอนตามแนวคิดนี้จัดแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. รูปแบบการสอนที่เน้นการจัดกระบวนการสารสนเทศหรือการะบวนการคิด            (The Information-Processing Family) มุ่งส่งเสริมความสามารถในการรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูล การเข้าใจปัญหาต่างๆ และการคิดหาวิธีแก้ปัญหา ตลอดจนการสร้างความคิดรวบยอดและใช้ภาษา         ที่เหมาะสมในการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดวิธีการแก้ปัญหานั้น โดยมุ่งเน้นความสำคัญไปที่สมรรถภาพ การคิดของผู้เรียนและวิธีการต่างๆ ในการพัฒนากระบวนการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล รูปแบบ         การสอนในกลุ่มนี้ ได้แก่ การสอนการคิดเชิงอนุมาน (Inductive Thinking)  การสอนการสร้างมโนทัศน์ (Concept Attainment)  การฝึกกระบวนการสืบสอบ (Inquiry Training)  การสอนการจำ(Memorization)  การสอนการให้โครงสร้างทางความคิด (Advance Organizers) การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Synoptic)  การพัฒนาทางปัญญา (The Developing Intellect) และการฝึกกระบวนการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry)  เป็นต้น
2. รูปแบบการสอนที่เน้นปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (The Social Family) เน้นความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นโดยใช้การประนีประนอมในการแก้ปัญหา  การมีส่วนร่วมกับผู้อื่นตามหลักการประชาธิปไตย การทำงานร่วมกัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ  รูปแบบ       การสอนในกลุ่มนี้ได้แก่ การสอนแบบค้นคว้าทำงานเป็นกลุ่ม (Group Investigation) การแสดงบทบาทสมมติ (Role Play)  การศึกษาสังคมด้วยกระบวนการสืบสวนสอบสวน (Jurisprudential Inquiry) เป็นต้น
3. รูปแบบการสอนที่เน้นการพัฒนาตน (The Personal Family)  เน้นการพัฒนาที่ตัวบุคคล  กระบวนการพัฒนาผู้เรียนแต่ละบุคคล กระบวนการสร้างและพัฒนาเอกัตภาพ อารมณ์ของตนเองมุ่งสอนให้รู้จักการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม  เสริมสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม       มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และรับผิดชอบ  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น   รูปแบบการสอนในกลุ่มนี้ ได้แก่  การสอนแบบไม่สั่งการ (Nondirective Teaching)  การสอนเพื่อเพิ่มมโนทัศน์ในตนเอง (Enhancing Self-Concept)  เป็นต้น
4. รูปแบบการสอนที่เน้นด้านพฤติกรรม (The Behavioral System Family) รูปแบบ        การสอนในกลุ่มนี้ได้รับแนวคิดมาจากทฤษฎีการเรียนรู้เชิงพฤติกรรม  เน้นการปรับพฤติกรรมการตอบสนอง หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้เรียน  รูปแบบการสอนในกลุ่มนี้  ได้แก่ การสอนเพื่อให้ควบคุมตนเอง (Learning Self-Control)  การเรียนแบบรอบรู้ (Mastery Learning)  การฝึกฝนตนเอง(Training and Self-Control)  การเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข (The Condition of Learning)  การสอนตรง(Direct Instruction)  สถานการณ์จำลอง (Simulation)  การเรียนรู้สังคม (Social Learning)  เป็นต้น  (ค้นคืนวันที่ 4 มกราคม 2557 จาก  http://sci-teachingmodel-tishafan.blogspot.com/p/blog-page_435.html)

การประยุกต์ใช้รูปแบบการสอน
Joyce and Well (1986 : 149-159)  เป็นผู้เขียนหนังสือ Models of Teaching  ที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในวงการศึกษา ได้สรุปสาระสำคัญของการพัฒนาและการประยุกต์ใช้รูปแบบการสอน  ประกอบด้วย
1. รูปแบบการสอนต้องมีทฤษฎีรองรับ เช่น ทฤษฎีด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ เป็นต้น
2. เมื่อพัฒนารูปแบบการสอนแล้ว ก่อนนำไปใช้จะต้องมีการวิจัยเพื่อทดสอบทฤษฎี และตรวจสอบคุณภาพ ในสถานการณ์จริง  และนำข้อค้นพบมาปรับปรุงแก้ไขอยู่เรื่อยๆ  การเสนอรูปแบบการสอนแต่ละรูปแบบของ จอยซ์และเวล ได้มีการนำไปทดลองใช้ในห้องเรียน รวมทั้งมีงานวิจัยรองรับมากมาย จนเป็นหลักประกันได้ว่าสามารถใช้ได้สะดวกและได้ผลดี
3. การพัฒนารูปแบบการสอน อาจออกแบบให้ใช้ได้อย่างกว้างขวางหรือเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
4. การพัฒนารูปแบบการสอน จะมีจุดมุ่งหมายหลักที่ถือเป็นหลักในการพิจารณาเลือกรูปแบบไปใช้ กล่าวคือ ถ้าผู้ใช้นำรูปแบบการสอนไปใช้ตรงกับจุดมุ่งหมายหลักก็จะทำให้เกิดผลสูงสุด แต่ก็สามารถนำรูปแบบนั้นไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่นๆ  ถ้าพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม แต่อาจทำให้ได้ผลสำเร็จลดน้อยลง
นอกจากจอยซ์และเวลจะเสนอทัศนะด้านการสอนแล้ว  ยังให้ข้อสังเกตและแนวคิด               ในการพัฒนาผู้เรียน  โดยเสนอรูปแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับสารสนเทศ ความคิด ทักษะค่านิยม และวิถีการคิด  นอกจากนั้น รูปแบบการสอนที่เลือกมานำเสนอ ส่วนใหญ่ได้เสนอวิธีเรียน (How to Learn) ให้แก่ผู้เรียนอีกด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลสำเร็จในระยะยาว  และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการเพิ่มพูนความสามารถที่จะเรียนรู้ของผู้เรียน  ทำให้เกิดการเรียนรู้ง่าย  และได้ผลดีในอนาคต กล่าวคือ การสอนควรจะส่งผลกระทบต่อผู้เรียนให้เขาได้สามารถศึกษาด้วยตนเองได้  อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบการสอนของ จอยซ์และเวล เน้นความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียน และพัฒนากลวิธีการเรียนรู้ (Learning Strategies) ของผู้เรียน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษาตามแนวใหม่  (ค้นคืนวันที่ 4 มกราคม 2557 จาก  http://sci-teachingmodel-tishafan.blogspot.com/p/blog-page_435.html)

________________



การสอนแบบไม่ชี้นำ (Nondirective Teaching)

การสอนแบบไม่ชี้นำ” 
(Nondirective Teaching)


แนวคิด

การสอนแบบไม่ชี้นำหรือ Nondirective Teaching เป็นผลงานของ คาร์ล โรเจอร์ (Carl R.Roger, 1961-1971) จากประสบการณ์ในการเป็นนักจิตบำบัด (Psycho Therapist) โรเจอร์ ได้ใช้วิธีการให้คำปรึกษาหารือแก่ผู้ป่วย โดยวิธีคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Client-Centered) ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เชิดชูในคุณค่าศักดิ์ศรีของบุคคลทุกคน สร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง ความเชื่อมั่นไว้วางใจ ให้เกิดกับผู้มารับคำปรึกษา จะทำให้ผู้มาหารู้สึกสบายใจ รู้สึกเป็นอิสระเสรี มีความกล้าพอที่จะเปิดเผยความรู้สึกนึกคิดของตนให้นักจิตวิทยาฟัง โดยผู้ฟังจะต้องให้ความสนใจแสดงการยอมรับเคารพในสิทธิการแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้มาปรึกษา ฟังด้วยความสนใจ ด้วยใจเป็นกลาง ด้วยการถามทบทวนในบางครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจปัญหาและความรู้สึกของตนเองอย่างกระจ่างชัด และเพื่อให้ผู้ป่วยมีความกล้าพอที่จะเผชิญกับปัญหาและได้ขบคิดปัญหาของตนเอง นักจิตวิทยาทำหน้าที่เป็นคนกลาง คอยส่งเสริมให้กำลังใจ กระตุ้นให้ผู้ป่วยเปิดเผยตนเองขบคิดปัญหา และทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงในบางครั้ง หรือแนะนำแหล่งข้อมูลให้โดยไม่ทำหน้าที่ตัดสินใจให้ผู้ป่วย
โรเจอร์ได้สรุปแนวคิดไว้ว่า ถ้าการบำบัดใช้ความสามารถของผู้รับบริการคือผู้ป่วย (Client) ในการแก้ปัญหาของตนเอง ทำไมถึงไม่ใช้สมมุติฐานข้อนี้และวิธีสอนแบบนี้ไปใช้ ? ถ้าการสร้างบรรยากาศของการยอมรับ การเข้าใจและการเคารพนับถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการส่งเสริมการเรียนรู้ในการบำบัด (Thera – py) ถ้าเช่นนี้จะนำมาเป็นมาตรการในการเรียนรู้ในการศึกษาได้หรือไม่?  ถ้าการบำบัดปรากฏผลออกมาว่า นอกจากจะทำให้ตนรู้จักตนเองดีแล้ว ยังสามารถช่วยตัวเองในสภาพการอย่างใหม่ ๆ ได้อย่างดีอีกด้วย ก็พอจะหวังผลคล้ายกันนี้ในวงการศึกษาได้หรือไม่?”
โรเจอร์ให้ทัศนต่อไปอีกว่า สำหรับสังคมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นในสังคมในอดีตนั้น การสอนเนื้อหาวิชาความรู้และทักษะให้ผู้เรียนอาจจะเหมาะสมกับสังคมในขณะนั้น แต่สังคมในสมัยใหม่ มนุษย์กำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป้าหมายของการเรียนการสอน ควรเป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ (facilitator of learning) ครูมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยการความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator) ครูควรมีคุณสมบัติด้านให้ความจริงใจแก่ผู้เรียน เคารพให้เกียรติและการเห็นคุณค่าของผู้เรียน และเป็นผู้ที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา รวมถึงเป็นผู้มีความละเอียดอ่อนในการเข้าถึงอารมณ์ของผู้เรียน
  
เป้าหมาย
เป้าหมายที่สำคัญของการให้การศึกษาไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษาแก่เด็กหรือผู้ใหญ่ คือการที่ผู้เรียนขวนขวาย เสาะแสวงที่จะศึกษาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใดบังคับ เป็นการเรียนที่เกิดจากใจชอบ ใจรัก ซึ่งเกิดจากแรงจูงใจภายใน การเรียนรู้ในลักษณะนี้เรียกว่า เป็นการเรียนรู้จากการนำตนเอง (Self directed learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่นักการศึกษาพึงประสงค์ให้เกิดกับผู้เรียนมากที่สุด
โรเจอร์เรียกแนวการสอนข้างต้นว่า Student centered ครูหรือผู้อำนวยความสะดวกจะต้องรับผิดชอบในฐานะ เป็นสมาชิกของกลุ่มและเป็นผู้นำการเรียน จะต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วมในกลุ่ม เป็นผู้รักษาบรรยากาศของการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นผู้ช่วยแนะแหล่งวิทยาการ ที่จะหาความรู้เพิ่มเติมตามที่กลุ่มต้องการและเห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นผู้มีความยืดหยุ่น และสามารถทำได้หลายบทบาท เช่น เป็นผู้ตีความหมาย เป็นผู้ชี้ขาด หรือเป็นเพียงสมาชิกธรรมดาคนหนึ่งในกลุ่มผู้เรียน
การเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student centered approach) อาศัยแนวคิดการรักษาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางการบำบัด (Client-centered Therapy) โดย โรเจอร์ได้ตั้งสมมติฐานดังนี้
1. ผู้สอนจะไม่สอนผู้เรียนโดยตรงแต่จะช่วยอำนวยให้ (facilitate) ผู้เรียนได้เรียนรู้ ทั้งนี้ เพราะว่าบุคคลทุกคนจะอยู่ในโลกแห่งประสบการณ์ของตน สิ่งที่มีชีวิตนั้นจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อสนาม (field) แห่งปรากฏการณ์ต่าง ๆ ตามที่เขาแต่ละคนประสบและรับรู้
2. ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีในสิ่งที่ผู้เรียนเห็นว่าสิ่งนั้น ๆ เกี่ยวข้องกับการดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนลักษณะของผู้เรียนช่วยส่งเสริมหรือช่วยให้เขาสามารถรักษาโครงสร้างภายในของตนเองได้
3. ผู้เรียนจะปฏิเสธประสบการณ์ที่เขาคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่จะต้องให้เขาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของตนเอง (Organization of self)
4. ถ้าหากผู้เรียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เขาคิดว่าเคร่งเครียดภายใต้การบังคับควบคุมผู้เรียนจะยิ่งยืนหยัด ไม่ยอมยืดหยุ่นปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่มีสิ่งใดมาทำให้เขาตึงเครียด เขาจะปรับตัวเองให้เข้ากับประสบการณ์ได้
5. สภาวะทางการศึกษาที่จะมีประสิทธิภาพที่สุดในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จะต้องเป็นสภาวะที่ไม่ข่มขู่ผู้เรียนและเป็นภาวะที่ผู้เรียน สามารถจำแนกวิเคราะห์องค์ประกอบของสถานการณ์ที่เขาประสบและรับรู้อยู่

แนวการสอน
แนวการสอนแบบ The Learner at the Center หรือ Student Centered ผู้สอนควรมีบทบาทดังนี้
1. จะต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน
2. คอยช่วยทำให้เกิดความกระจ่างชัดในเป้าหมายของแต่ละคนและของกลุ่ม
3. ต้องใช้ความต้องการ และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน เป็นแรงจูงใจในการเรียนการสอน
4. ต้องพยายามจัดหาแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ (Resources for learning) ให้เปิดกว้างมากที่สุด
5. ต้องคำนึงว่าตนเองเป็นแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นได้สำหรับกลุ่มผู้เรียน
6. ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ผู้สอนจะต้องจำแนกได้ว่าสิ่งใดเป็นเนื้อหาวิชาการและสิ่งใดเป็นอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้เรียน และควรพยายามที่ให้ความสำคัญแก่ทั้งสองสิ่งนี้ในทางที่เหมาะสมต่อความรู้สึกของผู้เรียนและกลุ่มผู้เรียน
7. ในห้องเรียนที่มีความเป็นกันเอง ผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม และแสดงความคิดเห็นได้ในฐานะผู้เรียนคนหนึ่งเท่านั้น
8. ผู้สอนควรริเริ่มแสดงความรู้สึก ความนึกคิดของตัวเองกับสมาชิกของกลุ่มในลักษณะที่เป็นการแสดงออกระหว่างบุคคล ที่มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายจะรับฟังหรือไม่รับฟังก็ได้
9. ตลอดเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ผู้สอนจะต้องมีความไวต่อการแสดงออกด้วยอารมณ์ที่ลึกซึ้งและรุนแรงระหว่างสมาชิกของกลุ่ม
10. ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก และต้องยอมรับว่าตนเองมีข้อจำกัดบางประการในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก

รูปแบบการสอน
รูปแบบการสอน (Model of Teaching) โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า Nondirective Teaching เป็นรูปแบบรายบุคคล (Personal Model) ซึ่งมีความสำคัญอยู่ที่ครูและผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการเรียนการสอน การเรียนการสอนไม่สามารถจะกำหนดให้เป็นรูปแบบตายตัวได้ มีเพียงส่วนน้อยที่ควบคุมได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เหตุการณ์และกิจกรรมจะแปรผันไปตามสภาพการณ์ในแต่ละครั้งแล้ว แต่ว่าผู้เรียนหรือกลุ่มจะนำไป นั่นคือกิจกรรมการเรียนการสอนไม่สามารถกำหนดไว้ก่อนล่วงหน้าให้แน่ชัดลงไปได้ แตกต่างจากวิธีสอนส่วนใหญ่ที่กิจกรรมได้ถูกกำหนดไว้แน่ชัด และมีลำดับ ขั้นตอน ที่เป็นเช่นนี้เป็นผลมาจากการนำเสนอ และการวิเคราะห์เรื่องราวที่เรียกนั้นให้ความสำคัญกับผู้เรียนในรูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง บทบาทของครูจะต้องลดน้อยลง ลำดับขั้นของกิจกรรมที่กำหนดไว้ก็ลดลง บทบาทของมีข้อจำกัดบางประการในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก ควรเน้นหนักที่เป็นผู้แนะนำเท่าที่ผู้เรียนมีความต้องการ และไม่อาจที่จะกำหนดให้หรือคาดไว้ล่วงหน้าได้ ดังนั้น เพื่อให้รูปแบบการเรียนการสอนบรรลุผล ผู้สอนจะต้องเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ที่มีความไวในการรับรู้จากบุคคลอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่จะต้องฝึกฝนเพิ่มเติม รวมทั้งประสบการณ์ในรูปแบบการสอนอย่างเดียวกันนี้ ที่ผ่านมาในอดีต
  
ขั้นตอนของกิจกรรมการเรียนการสอน
โรเจอร์กล่าวว่าแม้ว่ากิจกรรมการเรียนการสอนจะมีความหลากหลายจน ไม่สามารถจะกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ แต่ก็สามารถแบ่งลำดับขั้นของกิจกรรมได้ เป็น 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ (Bruce Joyce, and Marsha Weil, 1986 : 151)
ขั้นแรก กำหนดสถานการณ์ที่เป็นปัญหา  ครูจะช่วยตั้งข้อสังเกตจากความคิดเห็น หรือความรู้สึกที่ผู้เรียนแสดงออกมาอย่างอิสระ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหาที่แจ่มชัด
ขั้นที่สอง ครูจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึกต่อเรื่องนั้น ๆ ทั้งทางบวกและทางลบ เพื่อกำหนดและสำรวจข้อปัญหา
ขั้นที่สาม ครูพยายามช่วยให้ผู้เรียนเกิด insight ในปัญหานั้นทีละน้อย ๆ เช่น รับรู้ความหมายใหม่ มองเห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผล เข้าใจความหมายของพฤติกรรมที่ผ่านมา ฯลฯ
ขั้นที่สี่ ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะช่วยกันวางแผนและตัดสินใจเลือกทางเลือก ในการแก้ปัญหาโดยมีครูเป็นผู้ให้ความกระจ่างชัดในแต่ละทางเลือก
ขั้นที่ห้า ผู้เรียนนำเสนอการกระทำด้วยวิธีการหลาย ๆ อย่าง

การนำไปใช้
Nondirective Teaching Model สามารถนำไปใช้ได้กับปัญหาระดับต่าง ๆ ทั้งระดับบุคคล สังคม และวิชาการ ในระดับส่วนบุคคลนั้น ผู้เรียนจะสำรวจความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง ในปัญหาสังคมผู้เรียนจะสำรวจความรู้สึกที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ และความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกที่มีต่อตนเองกับความรู้สึกที่มีต่อคนอื่นในปัญหาด้านวิชาการ ผู้เรียนจะสำรวจความรู้สึกของตนเอง เกี่ยวกับความสามารถและความสนใจ ทั้งสามกรณีดังกล่าวนี้ เนื้อหามักจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า เรื่องอื่น ๆ ปกติจุดเน้นจะอยู่ที่ความรู้สึกของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ การหยั่งเห็น และวิธีการแก้ปัญหา
การใช้วิธีสอนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูจะต้องยอมรับว่านักเรียนสามารถที่จะเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ ครูจะต้องเชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพในตัวเอง และครูจะต้องเชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพในตัวเอง และครูจะต้องแสดงออกทางคำพูดด้วย ครูจะต้องไม่ตัดสินให้ผู้เรียนว่าอะไรดีอะไรเลว ครูจะต้องไม่วิเคราะห์ปัญหาเฉพาะในสายตาของครูเท่านั้น ครูจะต้องพยายามมองโลกของผู้เรียนในสายตาของผู้เรียนที่ผู้เรียนจะมองด้วยวิธีการต่าง ๆ นี้ อาจกล่าวได้ว่าครูจะต้องปรับตัวเองให้รับคนอื่น (ผู้เรียน) ได้ในบทบาทของครูที่จะเป็นตัวแทน (alter-ege) ของผู้เรียนครูจะต้องพัฒนา frame of reference ซึ่งยากที่จะทำ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ หากครูมีความต้องการที่จะเข้าใจผู้เรียนเช่นเดี่ยวกับที่ผู้เรียนเข้าใจ ในการยอมรับจำเป็นต้องสร้าง frame of reference คือความสามารถที่มองอย่างที่ผู้เรียนมอง
ในสถาบันการศึกษาที่มีลักษณะ Open-Classrooms จะพบว่าได้นำหลักการ Non-directive ไปใช้ ซึ่งมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
จุดประสงค์ของ Open-Classrooms พัฒนาความรู้สึกและความเจริญ self- concept ของผู้เรียน และความต้องการการเรียนรู้ของผู้เรียน 
วิธีการสอน เป็นวิธีการที่ยืดหยุ่นในการเรียน เทคนิคส่วนใหญ่ที่จะใช้คือ กลุ่มทำงาน (Group work) เน้นความคิดสร้างสรรค์ความรู้เกี่ยวกับตนเอง (Self-knowledge) 
บทบาทของครู ครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นวิทยากร เป็นผู้ชี้แนะ เป็นที่ปรึกษา 
เนื้อหาและวิธีสอน ผู้เรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า อะไรบ้างที่มีความสำคัญที่จะต้องเรียน (คืออะไรบ้างที่จะเรียน) ผู้เรียนสามารถตั้งจุดประสงค์ในการเรียนของตนเองตลอดจนวิธีการที่จะเรียนด้วย 
การประเมินผล ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินการเรียนด้วยตนเอง มากกว่าที่ครูเป็นผู้ประเมินผล ความก้าวหน้าวัดในลักษณะที่เป็นเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ 
องค์ประกอบทางสังคม (Social System)
โมเดลนี้มีโครงสร้างภายนอกน้อยมาก ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้เรียนเป็นผู้นำเสมอ การอภิปรายเน้นเรื่องปัญหาเป็นศูนย์กลาง (Problem-centered) เน้นปัญหาไม่มีการให้รางวัลหรือการลงโทษ (เพราะไม่มีการตัดสินว่าดีไม่ดี ผิดไม่ผิด) รางวัลที่ได้รับเกิดขึ้นในตนเอง (intrinsic) ไม่ใช่คนอื่นมาบอก (ให้)
หลักปฏิบัติ (Principles of Reaction)
ครูเป็นผู้เข้าไปหาผู้เรียน เห็นอกเห็นใจและช่วยให้ผู้เรียนนิยามปัญหากระตุ้นให้ผู้เรียน (ทำเอง) ลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้วิธีแก้ปัญหานั้น
องค์ประกอบสนับสนุน (Support System)
ครูต้องการที่จะมีสถานที่เงียบ และเป็นการส่วนตัว เพื่อพูดคุยกับผู้เรียนได้ตัวต่อตัว และต้องการแหล่งวิทยาการ (resource center) สำหรับการพูดคุยประชุมเชิงวิชการ

บทสรุป
ขั้นตอนของ Nondirective Teaceing Model ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ (Joyce and Wiel, 1986)
-          นิยามสถานการณ์ ที่เป็นประโยชน์ (Defining the Helping Situation) ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึกออกอย่างอิสระ
-          สำรวจปัญหา (Exploring the Problem) ผู้เรียนร่วมกันนิยามปัญหา ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนนิยามปัญหา และช่วยให้มองเห็นปัญหาที่แจ่มชัด
-          การทำความเข้าใจปัญหาให้กระจ่าง (Developing Insight) ผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ ครูสนับสนุนผู้เรียนในการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ
-          การวางแผนและการตัดสินใจ (Planning and Decision Making) ผู้เรียนวางแผนการตัดสินใจเบื้องต้น ครูชี้แนะแนวทางการแก้ปัญหา การตัดสินใจในทางเลือกที่เป็นไปได้ 
-          บูรณาการ (Integration) ผู้เรียนมาแนวคิดที่กว้างขึ้น และพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ครูสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาของผู้เรียน.

ที่มา:  สุเทพ อ่วมเจริญ. รูปแบบการสอนแบบไม่ชี้นำ.    http://www.oocities.org/tr_di/hrd-doc04.htm