วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การสอนแบบไม่ชี้นำ (Nondirective Teaching)

การสอนแบบไม่ชี้นำ” 
(Nondirective Teaching)


แนวคิด

การสอนแบบไม่ชี้นำหรือ Nondirective Teaching เป็นผลงานของ คาร์ล โรเจอร์ (Carl R.Roger, 1961-1971) จากประสบการณ์ในการเป็นนักจิตบำบัด (Psycho Therapist) โรเจอร์ ได้ใช้วิธีการให้คำปรึกษาหารือแก่ผู้ป่วย โดยวิธีคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Client-Centered) ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ป่วย มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เชิดชูในคุณค่าศักดิ์ศรีของบุคคลทุกคน สร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง ความเชื่อมั่นไว้วางใจ ให้เกิดกับผู้มารับคำปรึกษา จะทำให้ผู้มาหารู้สึกสบายใจ รู้สึกเป็นอิสระเสรี มีความกล้าพอที่จะเปิดเผยความรู้สึกนึกคิดของตนให้นักจิตวิทยาฟัง โดยผู้ฟังจะต้องให้ความสนใจแสดงการยอมรับเคารพในสิทธิการแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้มาปรึกษา ฟังด้วยความสนใจ ด้วยใจเป็นกลาง ด้วยการถามทบทวนในบางครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจปัญหาและความรู้สึกของตนเองอย่างกระจ่างชัด และเพื่อให้ผู้ป่วยมีความกล้าพอที่จะเผชิญกับปัญหาและได้ขบคิดปัญหาของตนเอง นักจิตวิทยาทำหน้าที่เป็นคนกลาง คอยส่งเสริมให้กำลังใจ กระตุ้นให้ผู้ป่วยเปิดเผยตนเองขบคิดปัญหา และทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงในบางครั้ง หรือแนะนำแหล่งข้อมูลให้โดยไม่ทำหน้าที่ตัดสินใจให้ผู้ป่วย
โรเจอร์ได้สรุปแนวคิดไว้ว่า ถ้าการบำบัดใช้ความสามารถของผู้รับบริการคือผู้ป่วย (Client) ในการแก้ปัญหาของตนเอง ทำไมถึงไม่ใช้สมมุติฐานข้อนี้และวิธีสอนแบบนี้ไปใช้ ? ถ้าการสร้างบรรยากาศของการยอมรับ การเข้าใจและการเคารพนับถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการส่งเสริมการเรียนรู้ในการบำบัด (Thera – py) ถ้าเช่นนี้จะนำมาเป็นมาตรการในการเรียนรู้ในการศึกษาได้หรือไม่?  ถ้าการบำบัดปรากฏผลออกมาว่า นอกจากจะทำให้ตนรู้จักตนเองดีแล้ว ยังสามารถช่วยตัวเองในสภาพการอย่างใหม่ ๆ ได้อย่างดีอีกด้วย ก็พอจะหวังผลคล้ายกันนี้ในวงการศึกษาได้หรือไม่?”
โรเจอร์ให้ทัศนต่อไปอีกว่า สำหรับสังคมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นในสังคมในอดีตนั้น การสอนเนื้อหาวิชาความรู้และทักษะให้ผู้เรียนอาจจะเหมาะสมกับสังคมในขณะนั้น แต่สังคมในสมัยใหม่ มนุษย์กำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป้าหมายของการเรียนการสอน ควรเป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ (facilitator of learning) ครูมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยการความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator) ครูควรมีคุณสมบัติด้านให้ความจริงใจแก่ผู้เรียน เคารพให้เกียรติและการเห็นคุณค่าของผู้เรียน และเป็นผู้ที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา รวมถึงเป็นผู้มีความละเอียดอ่อนในการเข้าถึงอารมณ์ของผู้เรียน
  
เป้าหมาย
เป้าหมายที่สำคัญของการให้การศึกษาไม่ว่าจะเป็นการให้การศึกษาแก่เด็กหรือผู้ใหญ่ คือการที่ผู้เรียนขวนขวาย เสาะแสวงที่จะศึกษาด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใดบังคับ เป็นการเรียนที่เกิดจากใจชอบ ใจรัก ซึ่งเกิดจากแรงจูงใจภายใน การเรียนรู้ในลักษณะนี้เรียกว่า เป็นการเรียนรู้จากการนำตนเอง (Self directed learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่นักการศึกษาพึงประสงค์ให้เกิดกับผู้เรียนมากที่สุด
โรเจอร์เรียกแนวการสอนข้างต้นว่า Student centered ครูหรือผู้อำนวยความสะดวกจะต้องรับผิดชอบในฐานะ เป็นสมาชิกของกลุ่มและเป็นผู้นำการเรียน จะต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศของการมีส่วนร่วมในกลุ่ม เป็นผู้รักษาบรรยากาศของการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นผู้ช่วยแนะแหล่งวิทยาการ ที่จะหาความรู้เพิ่มเติมตามที่กลุ่มต้องการและเห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นผู้มีความยืดหยุ่น และสามารถทำได้หลายบทบาท เช่น เป็นผู้ตีความหมาย เป็นผู้ชี้ขาด หรือเป็นเพียงสมาชิกธรรมดาคนหนึ่งในกลุ่มผู้เรียน
การเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student centered approach) อาศัยแนวคิดการรักษาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางการบำบัด (Client-centered Therapy) โดย โรเจอร์ได้ตั้งสมมติฐานดังนี้
1. ผู้สอนจะไม่สอนผู้เรียนโดยตรงแต่จะช่วยอำนวยให้ (facilitate) ผู้เรียนได้เรียนรู้ ทั้งนี้ เพราะว่าบุคคลทุกคนจะอยู่ในโลกแห่งประสบการณ์ของตน สิ่งที่มีชีวิตนั้นจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อสนาม (field) แห่งปรากฏการณ์ต่าง ๆ ตามที่เขาแต่ละคนประสบและรับรู้
2. ผู้เรียนจะเรียนรู้ได้ดีในสิ่งที่ผู้เรียนเห็นว่าสิ่งนั้น ๆ เกี่ยวข้องกับการดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนลักษณะของผู้เรียนช่วยส่งเสริมหรือช่วยให้เขาสามารถรักษาโครงสร้างภายในของตนเองได้
3. ผู้เรียนจะปฏิเสธประสบการณ์ที่เขาคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่จะต้องให้เขาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของตนเอง (Organization of self)
4. ถ้าหากผู้เรียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์ที่เขาคิดว่าเคร่งเครียดภายใต้การบังคับควบคุมผู้เรียนจะยิ่งยืนหยัด ไม่ยอมยืดหยุ่นปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่มีสิ่งใดมาทำให้เขาตึงเครียด เขาจะปรับตัวเองให้เข้ากับประสบการณ์ได้
5. สภาวะทางการศึกษาที่จะมีประสิทธิภาพที่สุดในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้จะต้องเป็นสภาวะที่ไม่ข่มขู่ผู้เรียนและเป็นภาวะที่ผู้เรียน สามารถจำแนกวิเคราะห์องค์ประกอบของสถานการณ์ที่เขาประสบและรับรู้อยู่

แนวการสอน
แนวการสอนแบบ The Learner at the Center หรือ Student Centered ผู้สอนควรมีบทบาทดังนี้
1. จะต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน
2. คอยช่วยทำให้เกิดความกระจ่างชัดในเป้าหมายของแต่ละคนและของกลุ่ม
3. ต้องใช้ความต้องการ และความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน เป็นแรงจูงใจในการเรียนการสอน
4. ต้องพยายามจัดหาแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ (Resources for learning) ให้เปิดกว้างมากที่สุด
5. ต้องคำนึงว่าตนเองเป็นแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นได้สำหรับกลุ่มผู้เรียน
6. ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ผู้สอนจะต้องจำแนกได้ว่าสิ่งใดเป็นเนื้อหาวิชาการและสิ่งใดเป็นอารมณ์หรือความรู้สึกของผู้เรียน และควรพยายามที่ให้ความสำคัญแก่ทั้งสองสิ่งนี้ในทางที่เหมาะสมต่อความรู้สึกของผู้เรียนและกลุ่มผู้เรียน
7. ในห้องเรียนที่มีความเป็นกันเอง ผู้สอนสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม และแสดงความคิดเห็นได้ในฐานะผู้เรียนคนหนึ่งเท่านั้น
8. ผู้สอนควรริเริ่มแสดงความรู้สึก ความนึกคิดของตัวเองกับสมาชิกของกลุ่มในลักษณะที่เป็นการแสดงออกระหว่างบุคคล ที่มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายจะรับฟังหรือไม่รับฟังก็ได้
9. ตลอดเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ผู้สอนจะต้องมีความไวต่อการแสดงออกด้วยอารมณ์ที่ลึกซึ้งและรุนแรงระหว่างสมาชิกของกลุ่ม
10. ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก และต้องยอมรับว่าตนเองมีข้อจำกัดบางประการในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก

รูปแบบการสอน
รูปแบบการสอน (Model of Teaching) โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่เรียกว่า Nondirective Teaching เป็นรูปแบบรายบุคคล (Personal Model) ซึ่งมีความสำคัญอยู่ที่ครูและผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการเรียนการสอน การเรียนการสอนไม่สามารถจะกำหนดให้เป็นรูปแบบตายตัวได้ มีเพียงส่วนน้อยที่ควบคุมได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว เหตุการณ์และกิจกรรมจะแปรผันไปตามสภาพการณ์ในแต่ละครั้งแล้ว แต่ว่าผู้เรียนหรือกลุ่มจะนำไป นั่นคือกิจกรรมการเรียนการสอนไม่สามารถกำหนดไว้ก่อนล่วงหน้าให้แน่ชัดลงไปได้ แตกต่างจากวิธีสอนส่วนใหญ่ที่กิจกรรมได้ถูกกำหนดไว้แน่ชัด และมีลำดับ ขั้นตอน ที่เป็นเช่นนี้เป็นผลมาจากการนำเสนอ และการวิเคราะห์เรื่องราวที่เรียกนั้นให้ความสำคัญกับผู้เรียนในรูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง บทบาทของครูจะต้องลดน้อยลง ลำดับขั้นของกิจกรรมที่กำหนดไว้ก็ลดลง บทบาทของมีข้อจำกัดบางประการในการเป็นผู้อำนวยความสะดวก ควรเน้นหนักที่เป็นผู้แนะนำเท่าที่ผู้เรียนมีความต้องการ และไม่อาจที่จะกำหนดให้หรือคาดไว้ล่วงหน้าได้ ดังนั้น เพื่อให้รูปแบบการเรียนการสอนบรรลุผล ผู้สอนจะต้องเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์ที่มีความไวในการรับรู้จากบุคคลอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่จะต้องฝึกฝนเพิ่มเติม รวมทั้งประสบการณ์ในรูปแบบการสอนอย่างเดียวกันนี้ ที่ผ่านมาในอดีต
  
ขั้นตอนของกิจกรรมการเรียนการสอน
โรเจอร์กล่าวว่าแม้ว่ากิจกรรมการเรียนการสอนจะมีความหลากหลายจน ไม่สามารถจะกำหนดไว้ล่วงหน้าได้ แต่ก็สามารถแบ่งลำดับขั้นของกิจกรรมได้ เป็น 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ (Bruce Joyce, and Marsha Weil, 1986 : 151)
ขั้นแรก กำหนดสถานการณ์ที่เป็นปัญหา  ครูจะช่วยตั้งข้อสังเกตจากความคิดเห็น หรือความรู้สึกที่ผู้เรียนแสดงออกมาอย่างอิสระ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหาที่แจ่มชัด
ขั้นที่สอง ครูจะต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึกต่อเรื่องนั้น ๆ ทั้งทางบวกและทางลบ เพื่อกำหนดและสำรวจข้อปัญหา
ขั้นที่สาม ครูพยายามช่วยให้ผู้เรียนเกิด insight ในปัญหานั้นทีละน้อย ๆ เช่น รับรู้ความหมายใหม่ มองเห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผล เข้าใจความหมายของพฤติกรรมที่ผ่านมา ฯลฯ
ขั้นที่สี่ ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหา ผู้เรียนจะช่วยกันวางแผนและตัดสินใจเลือกทางเลือก ในการแก้ปัญหาโดยมีครูเป็นผู้ให้ความกระจ่างชัดในแต่ละทางเลือก
ขั้นที่ห้า ผู้เรียนนำเสนอการกระทำด้วยวิธีการหลาย ๆ อย่าง

การนำไปใช้
Nondirective Teaching Model สามารถนำไปใช้ได้กับปัญหาระดับต่าง ๆ ทั้งระดับบุคคล สังคม และวิชาการ ในระดับส่วนบุคคลนั้น ผู้เรียนจะสำรวจความรู้สึกเกี่ยวกับตนเอง ในปัญหาสังคมผู้เรียนจะสำรวจความรู้สึกที่มีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ และความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกที่มีต่อตนเองกับความรู้สึกที่มีต่อคนอื่นในปัญหาด้านวิชาการ ผู้เรียนจะสำรวจความรู้สึกของตนเอง เกี่ยวกับความสามารถและความสนใจ ทั้งสามกรณีดังกล่าวนี้ เนื้อหามักจะเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า เรื่องอื่น ๆ ปกติจุดเน้นจะอยู่ที่ความรู้สึกของแต่ละบุคคล ประสบการณ์ การหยั่งเห็น และวิธีการแก้ปัญหา
การใช้วิธีสอนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ครูจะต้องยอมรับว่านักเรียนสามารถที่จะเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ ครูจะต้องเชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพในตัวเอง และครูจะต้องเชื่อว่าผู้เรียนมีศักยภาพในตัวเอง และครูจะต้องแสดงออกทางคำพูดด้วย ครูจะต้องไม่ตัดสินให้ผู้เรียนว่าอะไรดีอะไรเลว ครูจะต้องไม่วิเคราะห์ปัญหาเฉพาะในสายตาของครูเท่านั้น ครูจะต้องพยายามมองโลกของผู้เรียนในสายตาของผู้เรียนที่ผู้เรียนจะมองด้วยวิธีการต่าง ๆ นี้ อาจกล่าวได้ว่าครูจะต้องปรับตัวเองให้รับคนอื่น (ผู้เรียน) ได้ในบทบาทของครูที่จะเป็นตัวแทน (alter-ege) ของผู้เรียนครูจะต้องพัฒนา frame of reference ซึ่งยากที่จะทำ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ หากครูมีความต้องการที่จะเข้าใจผู้เรียนเช่นเดี่ยวกับที่ผู้เรียนเข้าใจ ในการยอมรับจำเป็นต้องสร้าง frame of reference คือความสามารถที่มองอย่างที่ผู้เรียนมอง
ในสถาบันการศึกษาที่มีลักษณะ Open-Classrooms จะพบว่าได้นำหลักการ Non-directive ไปใช้ ซึ่งมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
จุดประสงค์ของ Open-Classrooms พัฒนาความรู้สึกและความเจริญ self- concept ของผู้เรียน และความต้องการการเรียนรู้ของผู้เรียน 
วิธีการสอน เป็นวิธีการที่ยืดหยุ่นในการเรียน เทคนิคส่วนใหญ่ที่จะใช้คือ กลุ่มทำงาน (Group work) เน้นความคิดสร้างสรรค์ความรู้เกี่ยวกับตนเอง (Self-knowledge) 
บทบาทของครู ครูมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นวิทยากร เป็นผู้ชี้แนะ เป็นที่ปรึกษา 
เนื้อหาและวิธีสอน ผู้เรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจว่า อะไรบ้างที่มีความสำคัญที่จะต้องเรียน (คืออะไรบ้างที่จะเรียน) ผู้เรียนสามารถตั้งจุดประสงค์ในการเรียนของตนเองตลอดจนวิธีการที่จะเรียนด้วย 
การประเมินผล ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินการเรียนด้วยตนเอง มากกว่าที่ครูเป็นผู้ประเมินผล ความก้าวหน้าวัดในลักษณะที่เป็นเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ 
องค์ประกอบทางสังคม (Social System)
โมเดลนี้มีโครงสร้างภายนอกน้อยมาก ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้เรียนเป็นผู้นำเสมอ การอภิปรายเน้นเรื่องปัญหาเป็นศูนย์กลาง (Problem-centered) เน้นปัญหาไม่มีการให้รางวัลหรือการลงโทษ (เพราะไม่มีการตัดสินว่าดีไม่ดี ผิดไม่ผิด) รางวัลที่ได้รับเกิดขึ้นในตนเอง (intrinsic) ไม่ใช่คนอื่นมาบอก (ให้)
หลักปฏิบัติ (Principles of Reaction)
ครูเป็นผู้เข้าไปหาผู้เรียน เห็นอกเห็นใจและช่วยให้ผู้เรียนนิยามปัญหากระตุ้นให้ผู้เรียน (ทำเอง) ลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้วิธีแก้ปัญหานั้น
องค์ประกอบสนับสนุน (Support System)
ครูต้องการที่จะมีสถานที่เงียบ และเป็นการส่วนตัว เพื่อพูดคุยกับผู้เรียนได้ตัวต่อตัว และต้องการแหล่งวิทยาการ (resource center) สำหรับการพูดคุยประชุมเชิงวิชการ

บทสรุป
ขั้นตอนของ Nondirective Teaceing Model ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้ (Joyce and Wiel, 1986)
-          นิยามสถานการณ์ ที่เป็นประโยชน์ (Defining the Helping Situation) ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึกออกอย่างอิสระ
-          สำรวจปัญหา (Exploring the Problem) ผู้เรียนร่วมกันนิยามปัญหา ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนนิยามปัญหา และช่วยให้มองเห็นปัญหาที่แจ่มชัด
-          การทำความเข้าใจปัญหาให้กระจ่าง (Developing Insight) ผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ ครูสนับสนุนผู้เรียนในการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหานั้น ๆ
-          การวางแผนและการตัดสินใจ (Planning and Decision Making) ผู้เรียนวางแผนการตัดสินใจเบื้องต้น ครูชี้แนะแนวทางการแก้ปัญหา การตัดสินใจในทางเลือกที่เป็นไปได้ 
-          บูรณาการ (Integration) ผู้เรียนมาแนวคิดที่กว้างขึ้น และพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ครูสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาของผู้เรียน.

ที่มา:  สุเทพ อ่วมเจริญ. รูปแบบการสอนแบบไม่ชี้นำ.    http://www.oocities.org/tr_di/hrd-doc04.htm



1 ความคิดเห็น: