วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for sustainable development.)



การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
 (Education for sustainable development.)
โดย... จริยา  ทองหอม



1.  บทนำ
                การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตเพราะเป็นกระบวนการที่ทำให้มนุษย์พัฒนาคุณภาพชีวิตของตน  ทำให้เป็นผู้รู้จักคิด  รู้จักทำ  รู้จักแก้ปัญหาและมีส่วนในการกำหนดทิศทางของสังคม  เพราะการศึกษามีความสำคัญในการเสริมสร้างภูมิปัญญาให้แก่คนที่อยู่รวมกันเป็นสังคม  เป็นชาติ  ดังนั้น  การศึกษาจึงเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างภูมิปัญญาของชาติ (วันชัย  อนัยตโนมุท, 2542. อ้างถึงใน ชาคริต  อาชวอำรุง, 2554 : 1) ทั้งในด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมืองและอื่นๆ  อีกต่อไป
                หากมีการจัดการศึกษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสังคมไทยแล้ว  จะทำให้การศึกษาไทยเป็นการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ  ก่อให้เกิดคุณูปการแก่ประเทศชาติเป็นอันมาก  ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  ได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการศึกษาไว้ในวโรกาสต่างๆมากมาย  ซึ่งผู้วิจัยได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทในบางตอนมาแสดงไว้เป็นตัวอย่าง  เช่น
                "...งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติ  เพราะความเจริญและความเสื่อม     ของชาตินั้น  ขึ้นอยู่กับการศึกษาของชาติเป็นข้อใหญ่..."
                "...ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของทั้งชีวิตและส่วนรวม  คือ  การศึกษาซึ่งเป็นรากฐานส่งเสริม    ความมั่นคงเกือบทุกอย่างในบุคคลและประเทศชาติ..."
                "...สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนพอเหมาะกันทุกด้าน  สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ  ซึ่งสามารถจะธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้  และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้ตลอด..."

(สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2540)

          ด้วยเหตุนี้นักวิชาการทางการศึกษาไทยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไทยจึงพยายามหาหนทาง หรือแนวทางที่จะนำมาใช้กับการจัดระบบการศึกษาของไทย  และแนวทางที่หลายฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม       ที่จะนำมาใช้กับการจัดระบบการศึกษาของไทยมากที่สุดคือ  ปรัชญาการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ    พุทธธรรม (จิตกร  ตั้งเกษมสุข, 2525. อ้างถึงใน ชาคริต  อาชวอำรุง, 2554 : 2) ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมและค่านิยมอันดีงามของไทยได้เพราะคำสอนของศาสนามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนไทย  มีทั้งหลักคำสอนและหลักปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  ดังนั้นแนวทางการจัดการศึกษาที่พึงประสงค์ของคนไทยไม่ควรเป็นไปเพื่อตอบสนองเป้าหมาย ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว  แต่การศึกษานำหน้าเศรษฐกิจ (พระเทพโสภณ, 2546. อ้างถึงใน ชาคริต   อาชวอำรุง, 2554 : 2) นั้นคือ  การศึกษามีไว้เพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (พุทธทาสภิกขุ, 2527.  อ้างถึงใน ชาคริต  อาชวอำรุง, 2554 : 2) ทั้งร่างกายและจิตใจ

2.  วัตถุประสงค์ในการรายงาน
                1.  เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และ รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่  เกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
                2.  เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และแนวคิดของ รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่ 

3.  คำจำกัดความที่ใช้ในรายงาน
                การวิเคราะห์แนวคิด  หมายถึง  การแยกความคิดเห็นหรือความเชื่อออกเป็นส่วนๆให้เห็นถึงเหตุผลและวัตถุประสงค์ที่ผู้แสดงความคิดเห็นหรือความเชื่อนั้นๆออกมาแล้วระบุความสัมพันธ์และความสอดคล้องระหว่างส่วนต่างๆเหล่านั้น
          การจัดการศึกษา  หมายถึง  กระบวนการที่ทำให้บุคคลมีการแสวงหาความรู้ ความสามารถใน     การพัฒนาตนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  เป็นผู้สร้างสันติสุข  ความเจริญงอกงามให้แก่ประเทศชาติและสังคมโลก
                การพัฒนาที่ยั่งยืน  หมายถึง  การพัฒนาที่ประสานและเกื้อกูลกันระหว่างองค์ประกอบต่างๆ  ได้แก่  มนุษย์  สังคม  และธรรมชาติ

4.   สังเขปสาระสำคัญ
                ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาประเทศมาก  ไม่ว่าปัญหาสังคม  ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม  ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้น   เพื่อช่วยแก้ปัญหาและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550  กำหนดแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดินในมาตรา 78(1) ว่ารัฐจะต้องบริหารราชการแผ่นดินไปเพื่อการพัฒนาสังคม  เศรษฐกิจ  และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน (ชาคริต  อาชวอำรุง, 2554: 2)  แนวทางที่หลายฝ่ายเห็นว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับการจัดระบบการศึกษาของไทยมากที่สุดคือ  ปรัชญาการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพุทธธรรม ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมและค่านิยมอันดีงามของไทยได้เพราะคำสอนของศาสนามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนไทย  มีทั้งหลักคำสอนและหลักปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  ผู้รายงานได้วิเคราะห์และรวบรวมแนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของบุคคลสำคัญในวงการศึกษาไทย 2 ท่าน คือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และรศ.ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่  เพื่อใช้เป็นแนวทางในพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทย  ดังนี้  

1.  แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
 1. 1  แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) 
จากการศึกษาผลงานของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  พบว่า  ท่านได้ให้แนวทาง
เกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าจะต้องเริ่มจากสร้างรากฐานความคิดใหม่ขึ้นมาก่อน  การฝึกฝนพัฒนาตนเองของมนุษย์เป็นหลักแกนกลางที่สำคัญที่สุด  และเครื่องวัดการพัฒนาของมนุษย์ที่แท้จริง คือ การมีความสามารถยิ่งๆขึ้นไปในการทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งทั้งหลายเกื้อกูลประโยชน์กันมากขึ้น  เบียดเบียนกันน้อยลง  ทำให้โลกอุดมสมบูรณ์  งดงาม  เหมาะแก่การอยู่อาศัยอย่างผาสุกมากยิ่งขึ้น  ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนามนุษย์จะต้องจัดให้มีการศึกษาเพราะการศึกษาหมายถึงการพัฒนาคน  ซึ่งได้ยอมรับแล้วว่าเป็นแกนกลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน (รูปที่ 1)    


รูปที่  1  แนวคิด เรื่อง  กระบวนการเรียนรู้ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)     
_________________
 ที่มา: ชาคริต  อาชวอำรุง. (2554: 140)

1.2.  แนวคิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ รศ. ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่  
                                จากการศึกษาเอกสารผลงานของ รศ.ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่ พบว่า  ท่านได้ให้แนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนว่า ปัจจุบันและอนาคตนั้นแตกต่างไปจากอดีดโดยสิ้นเชิง  พลังขับเคลื่อนกระแสโลก คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  Website, Social  network, Internet  ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทั่วโลก ทำให้เกิดภาวะการแข่งขัน  การร่วมมือ  และการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม  และการศึกษาที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากร (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 1) 
                การเรียนรู้ในโลกอนาคต มีลักษณะเป็นการเรียนแบบ Multi  Disciplinary  Team จะสอนให้เราต้องเรียนรู้ที่จะทำงานกับคนทุกคนทุกประเภทเป็นทีมและการเรียนรู้แบบกว้าง liberal Arts (ศิลปวัฒนธรรม  ประวัติศาสตร์  ภาษา  ดนตรี  ศาสนา  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ)  มีโครงการให้ทำร่วมกัน  วันนี้และอนาคตเราต้องทำงานกับคนหลากหลายความคิด  มาคิดร่วมกันแก้ปัญหาซับซ้อนของโลกในวันนี้และอนาคต  (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554 :2) 
                การศึกษาเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่  พร้อมที่จะเป็นผู้นำบนโลกที่ซับซ้อนในอนาคต (Navigating Complex World  Liberal  Arts)  สอนให้คนรู้จักสร้าง  มีความเชื่อ  คนที่รอบรู้จะเข้าใจโลก  เข้าใจการเปลี่ยนแปลง  เข้าใจคนได้มากกว่า  มีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่า  จะเป็นปัจจัยการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ  การศึกษาที่ดีคือการเรียนรู้ที่จะเรียน  เพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป  อะไรที่ดำรงอยู่ในวันนี้อาจล้าสมัยได้เสมอ  เพราะฉะนั้นการมีวิสัยทัศน์กว้างไกล  จะช่วยให้เราพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  ได้เสมอ  ทำอะไรใหม่ๆเสมอ  ทุกวันคือการเรียนรู้ใหม่และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 2)  (รูปที่ 2)    


รูปที่  2  แนวคิด   ปัจจัยการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ของ  รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่ 
______________________________
ที่มา:  วิชัย วงษ์ใหญ่ และมารุต  พัฒผล. (2556: 61)

2.  รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
2.1  รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)    
                                จากการศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  สรุปได้ว่า
                1.  การศึกษาต้องมองในภาพรวม  ทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ  เพราะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลสูงต่อชีวิตของประชาชน
                2.  เป้าหมายของการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบคือการพัฒนามนุษย์
                3.  การจัดการศึกษาควรสนใจเรื่องวัฒนธรรม  เพราะวัฒนธรรมเป็นผลที่เกิดมาจากรูปแบบการศึกษาในอดีตที่มีผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันและยังคงทำหน้าที่เป็นผู้ให้การศึกษาเองด้วย
                4.  สาระสำคัญของรูปแบบการศึกษาประกอบด้วยบุคคล  2  ฝ่าย  คือ  ครู  ผู้ให้การศึกษา  กับ ศิษย์  ผู้รับการศึกษา 
                การสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  สรุปแนวทางการสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) จะต้องส่งเสริมปัจจัยต่างๆที่จะเอื้อให้บุคคลเกิดการเรียนรู้  ได้แก่  1)  ส่งเสริมโพธิศรัทธา  2)  ส่งเสริมให้เกิดบุพนิมิตรแห่งมรรคหรือปัจจัยแห่งสัมมาทิฎฐิ ทั้ง 7  ข้อ  3)  ปลูกฝังให้ประชาชนมีความสันโดษในทางที่ถูกต้อง  คือ สันโดษหรือพึงพอใจในวัตถุเสพบริโภคต่างๆให้มีเท่าที่จำเป็น  4)  หมั่นเตือนสติตนเอง
                 แนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับกลุ่มเป้าหมาย  จากการศึกษางานเขียน  ประวัติชีวิตและการสัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ผู้วิจัยได้เสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคคลทั่วไปให้เกิดการเรียนรู้  5.1)  สำหรับบุคคลทั่วไป  5.2)  สำหรับเด็กและเยาวชน ดังนี้
                1)  สำหรับบุคคลทั่วไป ได้แก่  1)  ทุกคนควรมีคติชีวิตที่กระตุ้นให้ตัวเองเรียนรู้และพัฒนาตลอดเวลา  2) หัดเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยตัวเอง  หมั่นตรวจสอบตัวเองในด้านต่างๆว่าได้ทำสิ่งที่ควรทำหรือไม่  3)  พัฒนาตนเองในด้านพฤติกรรมและความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างเกื้อกูล สร้างสรรค์ หรือพัฒนาศีล ให้ครบทั้ง 4 หมวด  4)  ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท
                2)  สำหรับเด็กและเยาวชน  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนมากเป็นพิเศษ  โดยท่านได้ให้หลักปฏิบัติสำหรับเด็กและเยาวชน  ดังนี้  1)  สร้างให้เกิดความเคยชินที่ดี  โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระดับศีล  เน้นความมีระเบียบวินัย  รู้จักใช้ชีวิตอย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติ  และรู้จักประมาณในการบริโภคหรือรู้จักบริโภคให้ได้คุณค่าแท้   2)  ฝึกเด็กให้เกิดฉันทะโดยฝึกให้เรียนรู้ได้จากทุกสถานการณ์  มีความสุข  และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง   3)  พัฒนาให้เด็กและเยาวชนเกิดโยนิโสมนสิการ  หรือมีความสามารถในการคิด  สามารถกระทำได้โดยให้อิสระในการคิดกับเด็ก  ไม่บังคับหรือครอบงำความคิด  มุ่งเน้นให้ความรู้  ส่งเสริมแค่ให้ติดอยู่กับความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ  และพัฒนาจิตสำนึกทางการศึกษา
                แนวคิดด้านผู้จัดการศึกษาของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  สำหรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านผู้จัดการศึกษา  พบว่า พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ได้แบ่งผู้จัดการศึกษาออกเป็น  5 กลุ่ม  ได้แก่  พ่อแม่  ครูอาจารย์  รัฐและสังคม  สถาบันการศึกษา  และสื่อมวลชน
                แนวคิดด้านกระบวนการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  แนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) สรุปได้ดังนี้
                1.   แนวทางสำหรับการจัดการเรียนรู้  ได้แก่  7.1.1)  พัฒนาฉันทะและจิตสำนึกแห่งการศึกษา  7.1.2)  ฝึกให้มีโยนิโสมนสิการหรือฝึกการคิด  7.1.3) ส่งเสริมกิจกรรมทางการศึกษา  7.1.4)  ควรใช้นิทานและการเล่นเป็นสื่อไปสู่ปัญญา  สำหรับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน  7.1.5)  ฝึกระเบียบวินัยตั้งแต่เด็ก
                2.  แนวทางสำหรับการประเมินผลการเรียนรู้  ได้แก่  7.2.1)  หลักภาวนา   7.2.2)  การพัฒนาความเห็นที่ถูกต้อง  7.2.3)  การทำประโยชน์เพื่อตนเองและผู้อื่น  รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายของชีวิต  7.2.4)  ความสามารถที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเกื้อกูลกับธรรมชาติ
รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)  สรุปได้ดังรูปที่ 3




รูปที่  3  รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)   
_________________
ที่มา: ชาคริต  อาชวอำรุง. (2554: 209)


2.2  รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ รศ.ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่ 
จากการศึกษารูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ รศ.ดร.วิชัย 
วงษ์ใหญ่   พบว่า คุณค่าที่แท้จริงของการเรียนรู้ คือ คุณภาพด้านในคุณภาพความเป็นมนุษย์  ความรู้อาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อไปอีก  ทักษะบางอย่างอาจจะไม่เพียงพอ  สิ่งที่จะทำให้เรามีชีวิตรอดในอนาคต  คือ คุณภาพความเป็นมนุษย์  ซึ่งประกอบด้วย ความรัก  ความเมตตา  ความกล้าหาญ  ความสามารถในการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ  รวมทั้งการมีสติและความสงบภายในจิตใจ  สิ่งที่ต้องเรียนรู้ในอนาคตเป็นปัจจัยทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน  ได้แก่  1) ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมากมาย เกิดขึ้นในโลก  เทคโนโลยีก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  2)  การเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้เพิ่มขึ้นทุกวัน  ความรู้ที่มีอยู่แล้วและใช้ได้ในวันนี้  อาจจะล้าสมัยในวันพรุ่งนี้  และ 3) สิ่งที่เราควรจะเรียนรู้คือวิธีการแสวงหาความรู้  การคิดสร้างสรรค์  การแก้ปัญหาเชิงอนาคต (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 3) 
                การจัดการศึกษายุคใหม่สู่ความเป็นพลเมืองจำเป็นต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งการมีส่วนร่วมมี  5  ระดับ  ได้แก่  1) การแบ่งปันข้อมูล (Inform )  2) การปรึกษาหารือ (Consult ) 3) การเข้ามาเกี่ยวข้อง (    Involve )   4) การร่วมมือ (Collaboration )  และ 5) การเสริมพลังอำนาจ (Empowerment ) (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 13) 
                สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมากจากอดีตเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกอย่างใกล้ชิด  การจัดการศึกษามุ่งพัฒนาจิตสำนึกความเป็นพลโลกและพัฒนาผู้เรียนเป็นพลเมืองของภูมิภาคของสังคมโลก  มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลเมืองของโลกที่อยู่อาศัยอยู่ในภูมิภาคต่างๆ  มีแนวคิดที่ดีต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติ  ความสัมพันธ์  การแลกเปลี่ยนและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยใช้ความร่วมมือและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมซึ่งทำให้เกิดสันติสุขของโลก  เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ (Knowledge worker)  ที่มีลักษณะแสวงหาความรู้อยู่เสมอ  รู้เท่าทันสถานการณ์  การเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ดี  องค์ประกอบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  คือ  1) การเรียนรู้อย่างไร (learning how to learn)  2) การเป็นมนุษย์อย่างไร (learning how to be)  3) การมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติอย่างไร (learning how to live together)  และ 4) การดำรงชีพอย่างไร (learning how to do) (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554: 11) 
                การวัดและประเมินผล  เป็นเครื่องมือตรวจสอบผลการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อการวางแผนพัฒนาผู้เรียนตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามศักยภาพ  ควรยึดหลักการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง มีหลักการ 4  ประการ  ได้แก่  1)  ใช้ผู้ประเมินหลายๆคน  เช่น  ผู้เรียน  เพื่อน  ผู้สอน  และผู้เกี่ยวข้อง  2) ใช้วิธีการและเครื่องมือวัดหลายๆชนิด  เช่น  การสังเกต  การปฏิบัติจริง  การทดสอบ  และการรายงานตนเอง  3) วัดหลายๆ ครั้งในแต่ละช่วงเวลาของการเรียนรู้ เช่น ก่อนเรียน  ระหว่างเรียน สิ้นสุดติดตามผล  4) สะท้อนผลการประเมินสู่การพัฒนาผู้เรียน  สำหรับประเด็นการประเมินตามสภาพจริง  ยึดหลักองค์ประกอบ  3P ได้แก่  1) การประเมินผลผลิต (Product)  2) การประเมินกระบวนการ (Process)  3) การประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ (Progress)
รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ รศ.ดร.วิชัย วงษ์ใหญ่  สรุปได้ดังรูปที่  3



รูปที่ 4    รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  ของ  รศ.ดร.วิชัย  วงษ์ใหญ่ 
______________________________
ที่มา:  วิชัย วงษ์ใหญ่ และมารุต  พัฒผล. (2556: 62)


5.  บทสรุป
                การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต   การศึกษามีความสำคัญในการเสริมสร้างภูมิปัญญาให้แก่คนที่อยู่รวมกันเป็นสังคม  เป็นชาติ  ในขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาประเทศมาก  ไม่ว่าปัญหาสังคม  ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม  แนวทางที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับการจัดระบบการศึกษาของไทยมากที่สุดคือ  ปรัชญาการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของพุทธธรรม ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาสอดคล้องกับขนบธรรมเนียมและค่านิยมอันดีงามของไทยได้เพราะคำสอนของศาสนามีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของคนไทย  มีทั้งหลักคำสอนและหลักปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  เพื่อใช้เป็นแนวทางในพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทย 
สรุปผลที่ได้จากการวิเคราะห์นวัตกรรมหลักสูตรและการสอน  เรื่อง  การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยการวิเคราะห์แนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และ รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่  เกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  และการวิเคราะห์รูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิดของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) และแนวคิดของ รศ.ดร. วิชัย  วงษ์ใหญ่  ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในวงการศึกษาไทย  ทำให้ค้นพบแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทย  ทำให้เกิดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบไทยๆ สู่การสร้างสรรค์สันติสุขในระดับสากลต่อไป

6.  ประเด็นปัญหาวิจัยที่น่าสนใจ
                1.  ควรมีการวิเคราะห์และรวบรวมแนวคิดของบุคคลสำคัญในวงการศึกษาไทยท่านอื่นๆ  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาและพัฒนาที่เหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทยจริงๆต่อไป  และหากมีการศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดด้านการศึกษาและการพัฒนาของปราชญ์ชาวไทยหลายๆท่าน  อาจจะสังเคราะห์ให้เกิดแนวทางการพัฒนาในแบบของไทยซึ่งสามารถเป็นประโยชน์ในระดับนานาชาติต่อไป
2.  การจัดการศึกษาทุกระดับทุกรูปแบบควรให้ความสำคัญอย่างสมดุลทั้งเรื่อง วิชาการ  ทักษะ
ความรู้  กับการพัฒนาชีวิต  และการพัฒนาความสามารถในการใช้ชีวิตที่จะนำไปสู่ความผาสุกเกื้อกูลกันของทั้งสังคมและธรรมชาติ
                3.  ควรมีการจัดวางแนวทางและส่งเสริมให้เกิดการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในการใช้ชีวิตที่สงบสุขท่ามกลางธรรมชาติและสังคมโลก
4.  ส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับรู้จักวิธีการหาความสุขในทางที่สร้างสรรค์  นอกเหนือจากการ
เสพบริโภค  เพื่อลดปัญหาการเบียดเบียน  โดยเฉพาะควรส่งเสริมให้คนทั่วไปมีความสุขจากการทำงานและการสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีงามทุกระดับ



บรรณานุกรม

คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. (2540)  ในหลวงกับการศึกษาไทย : ห้าทศวรรษสิริราช  สมบัติ. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง.
ชาคริต  อาชวอำรุง. (2554การวิเคราะห์แนวคิด  เรื่อง  การเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของ  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต). วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต         สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน  ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต  คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์     มหาวิทยาลัย. 
วิชัย  วงษ์ใหญ่.  (2554).  นวัตกรรมหลักสูตรและการเรียนรู้สู่ความเป็นพลเมือง. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ บริษัทอาร์แอนด์ปริ้นท์  จำกัด.
วิชัย  วงษ์ใหญ่ และมารุต  พัฒผล. (2556).  ปรับพื้นฐานกระบวนทัศน์ การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้.                (Powerpoint) ปริญญาเอกสาขาการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ 17  มิถุนายน  2556.





...............................................................................







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น