วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

Models of teaching.


สรุปงานแปล : Models of teaching ของ Bruce Joyce, Marsha Weil and Emily Calhoun.
โดย... จริยา  ทองหอม



ความหมายของรูปแบบการสอน

รูปแบบการเรียนการสอนมีความหมายในลักษณะเดียวกับระบบการเรียนการสอน ซึ่งนักการศึกษาโดยทั่ว ไปนิยมใช้คำว่า ระบบในความหมายที่เป็นระบบใหญ่ ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญๆ ของการศึกษา หรือการเรียนการสอนในภาพรวม และนิยมใช้คำว่า รูปแบบกับระบบที่ย่อยกว่า โดยเฉพาะกับ วิธีการสอนในด้านความหมายของรูปแบบการสอน มีผู้ให้ความหมายไว้หลายแง่มุม ดังนี้
Joyce and Well (1992 : 1-4) กล่าวว่า รูปแบบการสอน คือ แผน (plan) หรือแบบ (pattern) ที่เราสามารถใช้เพื่อการสอนโดยตรงในห้องเรียนหรือการสอนเป็นกลุ่มย่อย หรือเพื่อจัดสื่อการเรียนการสอนซึ่งรวมถึงหนังสือ ภาพยนตร์ เทปบันทึกเสียง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนและหลักสูตรรายวิชา ซึ่งแต่ละรูปแบบจะให้แนวทางในการออกแบบการเรียนการสอนที่จะช่วยให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆกัน รูปแบบการสอนคือ การบรรยายสิ่งแวดล้อมทางการเรียน รูปแบบการสอนก็คือ รูปแบบของการเรียนที่ช่วยผู้เรียนให้ได้รับสารสนเทศ ความคิด ทักษะคุณค่า แนวทางของการคิด และแนวทางในการแสดงออกของผู้เรียน  (ค้นคืนวันที่ 4 มกราคม 2557 จาก  http://sci-teachingmodel-tishafan.blogspot.com/p/blog-page_18.html)

ลักษณะของรูปแบบการสอน
จากการศึกษาพบว่า รูปแบบการสอน ควรมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. มีแนวคิดหรือหลักการพื้นฐาน รูปแบบการสอนจะต้องมีแนวคิดหรือหลักการพื้นฐานซึ่งอาจมาจากแนวคิดทางการศึกษา เช่น ให้ผู้เรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง มีกระบวนการเรียนรู้แบบสืบสอบ ทฤษฎีจิตวิทยาการเรียนรู้ เช่น มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคมควบคู่กันไป ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ หรือแนวคิดเกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆ เป็นต้น  รูปแบบการสอนหนึ่งๆ อาจจะมีแนวคิดหรือหลักการพื้นฐานเพียงอย่างเดียว ดังเช่น รูปแบบการสอนส่วนใหญ่  Joyce and Well หรือมีแนวคิดมากกว่าหนึ่งได้ดังที่ Stern (1984 : 47) เสนอไว้ว่าแนวคิดของรูปแบบการสอนควรเป็นสหวิทยาการ (Multidisciplinary) แนวคิดหรือหลักการพื้นฐานนี้จะเป็นหลักหรือแนวทางในการเลือก กำหนดและจัดระเบียบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบให้สอดคล้อง ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กัน
2. มีองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ ลักษณะนี้จัดเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ผู้ออกแบบหรือผู้พัฒนารูปแบบการสอนจะต้องตระหนักถึงในการกำหนดตัวองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบให้เป็นไปอย่างเป็นเหตุเป็นผล และสอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานของรูปแบบ การกำหนดองค์ประกอบของรูปแบบการสอนจะขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์และความละเอียดรอบคอบของผู้พัฒนาที่จะต้องคิด วิเคราะห์ จนสามารถมองเห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบได้อย่างแจ่มชัด จนสามารถกำหนดองค์ประกอบและความสัมพันธ์ได้อย่างสมเหตุ สมผลและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของการสอนโดยทั่วไปองค์ประกอบของการสอนเฉพาะสาขา และจะต้องพิจารณากำหนดองค์ประกอบให้เหมาะสม คือ มีความสัมพันธ์และสงผลโดยตรงต่อการ เรียนรู้ของผู้เรียน นอกจากนี้ Stern กล่าวว่า รูปแบบการสอนควรมีลักษณะของการให้ความสำคัญขององค์ประกอบทั้งหมดร่วมกัน(Multi factor view) กล่าวคือ ในรูปแบบการสอน องค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบจะมีความสำคัญทัดเทียมกัน องค์ประกอบทั้งหมดจะต้องมีบทบาทร่วมกันจึงจะทำให้รูปแบบการสอนนั้นๆ มีประสิทธิภาพตามต้องการได้ ซึ่งตัวอย่างของการกำหนดองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ ดังที่ ทิศนา แขมมณี (2550 : 3-4) ได้ยกตัวอย่างไว้ดังนี้ รูปแบบการสอนกระบวนการกลุ่มมาจากแนวคิดการให้ผู้เรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตนเอง ดังนั้นจึงกำหนดองค์ประกอบ กระบวนการให้มีการทำกิจกรรมของผู้เรียนเพื่อให้ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และองค์ประกอบวิธีสอนจะกำหนดให้ใช้การสอนแบบอปนัย (Inductive) ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ สรุปหลักการจากตัวอย่างหรือกิจกรรมที่ได้ทำด้วยตนเอง เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามแนวคิดหลักของรูปการสอน
3. มีการพัฒนาหรือออกแบบอย่างเป็นระบบ รูปแบบการสอนเป็นผลของการพัฒนาหรือออกแบบจัดองค์ประกอบอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และองค์ประกอบการสอนที่เกี่ยวข้อง กำหนดองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็น จัดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน นำแผนการจัดองค์ประกอบไปทดลองใช้สอนในห้องเรียนจริงเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ในการปฏิบัติและยืนยันผลที่เกิดขึ้นว่า สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการได้จริง จึงจะยอมรับได้ว่าการจัดองค์ประกอบนี้เป็นรูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพ
4. มีผลต่อพัฒนาการของผู้เรียนในด้านต่างๆ รูปแบบการสอนที่พัฒนาขึ้นจะส่งผลต่อพัฒนาการในด้านต่างๆของผู้เรียน ดังที่ Joyce and Well (1992 : 1-4) กล่าวไว้ว่ารูปแบบการสอนแต่ละแบบจะส่งผลต่อผู้เรียนต่างกันออกไปตามแนวคิดและหลักการของรูปแบบการสอนนั้น เช่น รูปแบบการสอนการฝึกการสืบสอบ (Inquiry training) มีเป้ าหมายเพื่อที่จะพัฒนากระบวนการคิดค้นด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการสืบเสาะหาความรู้หรือเป็นการมุ่งที่จะส่งผลให้ผู้เรียนมีกระบวนการ สืบสอบ (ค้นคืนวันที่ 4 มกราคม 2557 จาก  http://sci-teachingmodel-tishafan.blogspot.com/p/blog-page_3587.html)
  
ประเภทของรูปแบบการสอน
ประเภทของรูปแบบการสอน มีแตกต่างกันออกไป ตามแนวคิดของผู้จัด  ดังนี้
Joyce and Well (1992 : 80-88) ได้จัดประเภทของรูปแบบการสอนตามจุดเน้นหรือผลที่ต้องการให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน รูปแบบการสอนตามแนวคิดนี้จัดแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. รูปแบบการสอนที่เน้นการจัดกระบวนการสารสนเทศหรือการะบวนการคิด            (The Information-Processing Family) มุ่งส่งเสริมความสามารถในการรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูล การเข้าใจปัญหาต่างๆ และการคิดหาวิธีแก้ปัญหา ตลอดจนการสร้างความคิดรวบยอดและใช้ภาษา         ที่เหมาะสมในการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดวิธีการแก้ปัญหานั้น โดยมุ่งเน้นความสำคัญไปที่สมรรถภาพ การคิดของผู้เรียนและวิธีการต่างๆ ในการพัฒนากระบวนการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล รูปแบบ         การสอนในกลุ่มนี้ ได้แก่ การสอนการคิดเชิงอนุมาน (Inductive Thinking)  การสอนการสร้างมโนทัศน์ (Concept Attainment)  การฝึกกระบวนการสืบสอบ (Inquiry Training)  การสอนการจำ(Memorization)  การสอนการให้โครงสร้างทางความคิด (Advance Organizers) การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (Synoptic)  การพัฒนาทางปัญญา (The Developing Intellect) และการฝึกกระบวนการสืบสอบทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry)  เป็นต้น
2. รูปแบบการสอนที่เน้นปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (The Social Family) เน้นความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นโดยใช้การประนีประนอมในการแก้ปัญหา  การมีส่วนร่วมกับผู้อื่นตามหลักการประชาธิปไตย การทำงานร่วมกัน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ  รูปแบบ       การสอนในกลุ่มนี้ได้แก่ การสอนแบบค้นคว้าทำงานเป็นกลุ่ม (Group Investigation) การแสดงบทบาทสมมติ (Role Play)  การศึกษาสังคมด้วยกระบวนการสืบสวนสอบสวน (Jurisprudential Inquiry) เป็นต้น
3. รูปแบบการสอนที่เน้นการพัฒนาตน (The Personal Family)  เน้นการพัฒนาที่ตัวบุคคล  กระบวนการพัฒนาผู้เรียนแต่ละบุคคล กระบวนการสร้างและพัฒนาเอกัตภาพ อารมณ์ของตนเองมุ่งสอนให้รู้จักการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม  เสริมสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม       มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และรับผิดชอบ  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น   รูปแบบการสอนในกลุ่มนี้ ได้แก่  การสอนแบบไม่สั่งการ (Nondirective Teaching)  การสอนเพื่อเพิ่มมโนทัศน์ในตนเอง (Enhancing Self-Concept)  เป็นต้น
4. รูปแบบการสอนที่เน้นด้านพฤติกรรม (The Behavioral System Family) รูปแบบ        การสอนในกลุ่มนี้ได้รับแนวคิดมาจากทฤษฎีการเรียนรู้เชิงพฤติกรรม  เน้นการปรับพฤติกรรมการตอบสนอง หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้เรียน  รูปแบบการสอนในกลุ่มนี้  ได้แก่ การสอนเพื่อให้ควบคุมตนเอง (Learning Self-Control)  การเรียนแบบรอบรู้ (Mastery Learning)  การฝึกฝนตนเอง(Training and Self-Control)  การเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข (The Condition of Learning)  การสอนตรง(Direct Instruction)  สถานการณ์จำลอง (Simulation)  การเรียนรู้สังคม (Social Learning)  เป็นต้น  (ค้นคืนวันที่ 4 มกราคม 2557 จาก  http://sci-teachingmodel-tishafan.blogspot.com/p/blog-page_435.html)

การประยุกต์ใช้รูปแบบการสอน
Joyce and Well (1986 : 149-159)  เป็นผู้เขียนหนังสือ Models of Teaching  ที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในวงการศึกษา ได้สรุปสาระสำคัญของการพัฒนาและการประยุกต์ใช้รูปแบบการสอน  ประกอบด้วย
1. รูปแบบการสอนต้องมีทฤษฎีรองรับ เช่น ทฤษฎีด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ เป็นต้น
2. เมื่อพัฒนารูปแบบการสอนแล้ว ก่อนนำไปใช้จะต้องมีการวิจัยเพื่อทดสอบทฤษฎี และตรวจสอบคุณภาพ ในสถานการณ์จริง  และนำข้อค้นพบมาปรับปรุงแก้ไขอยู่เรื่อยๆ  การเสนอรูปแบบการสอนแต่ละรูปแบบของ จอยซ์และเวล ได้มีการนำไปทดลองใช้ในห้องเรียน รวมทั้งมีงานวิจัยรองรับมากมาย จนเป็นหลักประกันได้ว่าสามารถใช้ได้สะดวกและได้ผลดี
3. การพัฒนารูปแบบการสอน อาจออกแบบให้ใช้ได้อย่างกว้างขวางหรือเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
4. การพัฒนารูปแบบการสอน จะมีจุดมุ่งหมายหลักที่ถือเป็นหลักในการพิจารณาเลือกรูปแบบไปใช้ กล่าวคือ ถ้าผู้ใช้นำรูปแบบการสอนไปใช้ตรงกับจุดมุ่งหมายหลักก็จะทำให้เกิดผลสูงสุด แต่ก็สามารถนำรูปแบบนั้นไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่นๆ  ถ้าพิจารณาเห็นว่าเหมาะสม แต่อาจทำให้ได้ผลสำเร็จลดน้อยลง
นอกจากจอยซ์และเวลจะเสนอทัศนะด้านการสอนแล้ว  ยังให้ข้อสังเกตและแนวคิด               ในการพัฒนาผู้เรียน  โดยเสนอรูปแบบการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับสารสนเทศ ความคิด ทักษะค่านิยม และวิถีการคิด  นอกจากนั้น รูปแบบการสอนที่เลือกมานำเสนอ ส่วนใหญ่ได้เสนอวิธีเรียน (How to Learn) ให้แก่ผู้เรียนอีกด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดผลสำเร็จในระยะยาว  และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นการเพิ่มพูนความสามารถที่จะเรียนรู้ของผู้เรียน  ทำให้เกิดการเรียนรู้ง่าย  และได้ผลดีในอนาคต กล่าวคือ การสอนควรจะส่งผลกระทบต่อผู้เรียนให้เขาได้สามารถศึกษาด้วยตนเองได้  อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบการสอนของ จอยซ์และเวล เน้นความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียน และพัฒนากลวิธีการเรียนรู้ (Learning Strategies) ของผู้เรียน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษาตามแนวใหม่  (ค้นคืนวันที่ 4 มกราคม 2557 จาก  http://sci-teachingmodel-tishafan.blogspot.com/p/blog-page_435.html)

________________



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น