วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

การแกะสลักผักผลไม้


การแกะสลักผักผลไม้
จริยา ทองหอม
16 ธันวาคม 2561


เรียบเรียงขึ้นให้นักเรียนได้ทำแผ่นพับประกอบการนำเสนอและประกอบการฝึกซ้อมการแกะสลักผักผลไม้
ประวัติความเป็นมา
การแกะสลักมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยมีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศว่าผู้หญิงในวังหลวงมีการเรียนงานบ้านงานเรือน การแกะสลักและสืบทอดต่อกันมาจนถึงลูกหลานในปัจจุบันมีการเปิดสอนในสถาบันต่างๆ  เช่น โรงเรียน  มหาวิทยาลัย  โรงเรียนฝึกอาชีพ  และพัฒนาจนเป็นงานธุรกิจแขนงหนึ่ง
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนิพนธ์กาพย์เห่ชมผลไม้ตอนหนึ่ง       ความว่า
“น้อยหน่านำเมล็ดออก   ปล้อนเปลือกออกเป็นอัศจรรย์
มือใครไหนจักทัน        เทียบเทียมที่ฝีมือนาง
ผลเงาะไม่งามแงะ    มล่อนเมล็ดและเหลือปัญญา
หวนเห็นเช่นรจนา       จำเจ้าเงาะเพราะเห็นงาม”
การแกะสลักผักผลไม้เป็นศิลปะของไทยที่กุลสตรีในสมัยก่อนมีการฝึกหัด เรียนรู้ผู้ใดฝึกหัดจนเกิดความชำนาญก็จะได้รับการยกย่อง
งานแกะสลักใช้กับของอ่อน สลักออกมาเป็นลวดลายต่างๆอย่างงดงาม มีสลักผัก สลักผลไม้ สลักหยวกกล้วยถือเป็นงานช่างฝีมือของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ งานสลักจึงอยู่ในงานช่าง 10 หมู่ เรียกว่า ช่างสลัก
การสลักจัดเป็นศิลปกรรมประเภทประติมากรรม เป็นการประดิษฐ์วัตถุเนื้ออ่อนอย่างผัก ผลไม้ ที่ยังไม่เป็นรูปร่าง หรือมีรูปร่างอยู่แล้วสร้างสรรค์ให้สวยงามและพิสดารขึ้น โดยใช้เครื่องมือที่มีความแหลมคม โดยใช้วิธีตัด เกลา ปาด แกะ คว้าน ทำให้เกิดลวดลายตามต้องการ การแกะสลักเป็นการฝึกทักษะสัมพันธ์ของมือและสมอง เป็นการฝึกจิตให้นิ่ง แน่วแน่ต่องาน นอกจากเป็นการฝึกสมาธิแล้วยังเป็นการฝึกฝีมือให้เกิดความชำนาญเป็นพิเศษ และต้องมีความมานะ อดทน ใจเย็น รู้จักการตกแต่ง มีความคิดสร้างสรรค์ การทำงานต้องให้จิตใจทำไปพร้อมกับงานที่กำลังสลักอยู่ จึงได้งานสลักที่สวยงามอย่างเป็นธรรมชาติ ดัดแปลงเป็นลวดลายประดิษฐ์ต่างๆ ตามใจปรารถนา



หลักการแกะสลักผักผลไม้
การแกะสลักผักและผลไม้ถือเป็นงานแกะสลักวัสดุเนื้ออ่อน จำแนกลักษณะของงานตามวิธีการแกะสลัก ได้ดังนี้ คือ
1. รูปร่องลึก  เป็นการเซาะเนื้อวัสดุให้เป็นร่องลึกตามลวดลายหรือลักษณะงานที่ออกแบบไว้
2. รูปนูน เป็นการแกะสลักเนื้อวัสดุนูนขึ้นจากพื้น คือ การแกะสลักพื้นให้ต่ำลง ให้ตัวลายนูนสูงขึ้นมา
 3. รูปลอยตัว เป็นการแกะสลักที่มองเห็นได้โดยรอบทุกด้าน
เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลัก  ได้แก่  มีดบาง  มีดปลายแหลม   มีดปลายโค้ง  มีดฟันเลื่อย มีด ที่ตักทรงกลม  
อุปกรณ์ที่ใช้ในการแกะสลัก  ได้แก่   เขียงไม้/เขียงพลาสติก  ภาชนะใส่น้ำ  ถาดรองรับเศษผักและผลไม้
ผ้าขาวบาง  ผ้าเช็ดมือ  ที่ฉีดน้ำ  จาน ถาด  กล่องพลาสติกหรือถุงพลาสติก
การเก็บรักษาเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้ในการแกะสลัก
1.  หลังใช้งานแล้วต้องทำความสะอาดทุกครั้ง วัสดุที่นำมาแกะสลักบางชนิดมียาง ต้องล้างยางที่คมมีดด้วยมะนาวหรือน้ำมันก่อน แล้วจึงล้างน้ำให้สะอาด เช็ดให้แห้ง เก็บปลายมีดในฝักหรือปลอก
2.  หมั่นดูแลมีดแกะสลักให้มีความคมสม่ำเสมอ เวลาใช้งานผักและผลไม้จะได้ไม่ช้ำ โดยหลังการใช้ต้องลับคมทุกครั้ง เช็ดให้แห้งเก็บใส่กล่องโดยเฉพาะ และเก็บไว้ให้พ้นมือเด็ก
ผักและผลไม้ที่สามารถนำมาแกะสลัก  เช่น  แตงกวา  มะเขือเทศ  มะเขือ  แครอท  ขิง   มันเทศ  เผือก  ฟักทอง  มันฝรั่ง  แตงโม  เงาะ ละมุด สับปะรด  ส้ม  น้อยหน่า   เป็นต้น
ลำดับขั้นการแกะสลักผักและผลไม้
1. ออกแบบ โดยการร่างแบบในกระดาษ
2. วิเคราะห์เพื่อเลือกผักหรือผลไม้ในการนำมาแกะสลักให้มีความเหมาะสมตามที่ออกแบบไว้
3.  เกลาให้ได้รูปทรงตามที่ออกแบบไว้
4.  แกะสลักวิธีเซาะร่องให้ได้รูปทรงที่ออกแบบไว้
ประโยชน์ของงานแกะสลักผักและผลไม้        
1. เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น
1.1  จัดตกแต่งผักและผลไม้ให้สวยงามน่ารับประทาน
1.2  จัดแต่งให้สะดวกแก่การรับประทาน
2.  เพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น
2.1  งานประเพณีต่างๆ นิยมจัดตกแต่งอาหารคาวหวานให้สวยงาม เพื่อเลี้ยงพระหรือรับรองแขก เช่น งานบวชนาค งานแต่งงาน งานวันเกิด งานฉลองแสดงความยินดี
2.2  งานวันสำคัญ เช่น งานปีใหม่ หรือแกะสลักผลไม้เชื่อม/แช่อิ่ม ใส่ภาชนะที่เหมาะสมใช้เป็นของขวัญ ของฝาก ไปกราบญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
2.3  งานพระราชพิธีต่างๆ
3.  เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เป็นช่างแกะสลักผักและผลไม้ตามร้านอาหาร ภัตตาคาร  โรงแรม หรือบนสายการบินระหว่างประเทศ
4.  เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทย
5.  เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย
6.  เพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการคิดรูปทรง และลวดลายที่แปลกใหม่โดยจัดประกวดการแกะสลักผักและผลไม้ในหัวข้อต่างๆ
7.  ทำให้ผู้แกะสลักเกิดความภาคภูมิใจในผลงานและได้รับการยกย่องสร้างงานและรายได้







ที่มา: การแกะสลักผักผลไม้. สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2561 



1 ความคิดเห็น:

  1. ควรจะส่งเสริมเด็กที่รักงานด้านนี้เลยค่ะหายากมากค่ะ

    ตอบลบ