วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บันทึก...บริบทและสภาพจริงของการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา


บันทึก...บริบทและสภาพจริง
ของการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา
ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน - 29 กรกฎาคม 2559
ในระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ
...................
 จริยา ทองหอม
26/07/2559

        บันทึกนี้เขียนขึ้นจากการวิเคราะห์สภาพการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาที่ผู้เขียนทำการสอน และให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานศึกษาในระหว่างการดำรงตำแหน่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ดังนี้
        จากการวิเคราะห์การจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในระบบ มีลักษณะ ดังนี้
1. สถานศึกษาได้ดำเนินการจัดกิจกรรมปกติตามโครงสร้างหลักสูตรแกนกลางพุทธศักราช 2551
2. สถานศึกษาได้ดำเนินกิจกรรมตามโครงการในแผนปฏิบัติงานประจำปีของสถานศึกษา
3. สถานศึกษาได้ให้ความร่วมมือกับทุก ๆ หน่วยงานในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา     คุณภาพการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ
       
         แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เจตนารมณ์ในการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในสถานศึกษาในขณะนี้จะเป็นไปในด้านบวกหรือด้านลบ ดังนี้
        1. การดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ในระหว่างเวลาใกล้สิ้นปีงบประมาณจะต้องติดตามเร่งรัดเกี่ยวกับการรายงานผลงานของตนเอง การรายงานผลงานตาม 11 จุดเน้นนโยบายของกระทรวงศึกษาส่งผลให้แต่ละหน่วยงานเร่งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างภาพผลงานและเก็บข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มผู้เรียน ครูผู้สอน ผู้บริหาร และบุคลากรในสถานศึกษา ซึ่งนักเรียนและครูผู้สอนต้องให้ความร่วมมือในทุก ๆ กิจกรรม และทุก ๆ ภาระงานที่เกี่ยวข้องทั้งกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งตามตารางเรียนปกติ กิจกรรมตามโครงการในแผนปฏิบัติงานของสถานศึกษา และกิจกรรมตาม 11 จุดเน้นนโยบายของกระทรวงศึกษา และการรายงานผลให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการข้อมูลของผู้เรียน ครู และสถานศึกษา อีกทั้งขณะนี้เกิดความสับสนในคณะนักเรียนและครูผู้สอนที่ไม่สามารถตอบสนองต่อกิจกรรมต่าง ๆ ได้ทั้งหมด เพราะมีกิจกรรมเข้ามามากจนไม่สามารถตอบสนองได้ เช่น
     


1.1 การดำเนินกิจกรรมในสถานศึกษา (ระหว่างวันที่ 26 ก.ค. - 3 ส.ค. 2559) นักเรียนและครูผู้สอน จะต้องจัดการเรียนการสอนตามตารางเรียนปกติ จัดกิจกรรมชุมนุม กิจกรรมลูกเสือ/เนตรนารี กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ที่ทำให้ตารางสอนของนักเรียนเพิ่มขึ้นจาก 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 35 คาบต่อสัปดาห์ (ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายหรือเป้าหมายของ รมว. ศธ. ที่ผู้เขียนเคยศึกษาวิเคราะห์มาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นรัฐบาล) ดังนี้
       - วันที่ 26-28 ก.ค. 2559 นักเรียนชั้น ม.2 ต้องเข้าค่ายลูกเสือต้านภัยยาเสพติด พร้อมกัน จำนวน 11 โรง ในภาระงานนี้ รูผู้สอนที่มีชั่วโมงสอนในชั้น ม.2 ต้องช่วยกันดูแลกิจกรรมตามชั่วโมงสอนที่รับผิดชอบ และจัดการเรียนการสอนตามตารางสอนปกติในชั้นเรียนอื่น ๆ
       - วันที่ 29 ก.ค 2559 กิจกรรมวันภาษาไทย ตามโครงการในแผนปฏิบัติการของสถานศึกษา
       - วันที่ 3 ส.ค. 2559 กิจกรรม We are ASIAN ตามโครงการโรงเรียนนำร่อง และนโยบายรัฐ
ลักษณะของกิจกรรมวันภาษาไทย และกิจกรรม We are ASIAN จะจัดทั้งวันในสถานศึกษา และมีรูปแบบการจัดที่คล้ายคลึงกัน เช่น ฐานการเรียนรู้ ซุ้มนิทรรศการ ซุ้มอาหาร การแต่งกาย การแสดง การขายของ การประกวดโครงงาน แต่จัดแยกกิจกรรมออกจากกัน ขาดการเชื่อมโยงบูรณาการกิจกรรมเข้าด้วยกัน
ลักษณะของปัญหาที่พบ มีดังนี้
        1. ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้เรียน คือ ผู้เรียนเริ่มสับสนไม่รู้ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก่อน/หลัง ทำไม่ทัน ไม่สามารถทำกิจกรรมได้หลาย ๆ กิจกรรมในเวลาเดียวกัน และทุกกิจกรรมต่างต้องใช้ทุนของผู้เรียนส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรม
        2. ปัญหาในการวางแผนและเตรียมงาน ครูผู้สอนต้องฝึกผู้เรียนเพื่อให้มีความพร้อมในการแสดง หรือการเข้าร่วม หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียนจนกลายเป็นภาวะความเครียดและกดดันผู้เรียนและครูผู้สอน
        3. ปัญหาผู้เรียนไม่ได้เรียนตามปกติในเวลาเรียนตามตารางเรียนเพราะต้องเข้าร่วมกิจกรรมมากเกินไป
        4. ปัญหาผู้เรียนไม่ได้เรียนตามปกติในเวลาเรียนตามตารางเรียนเพราะครูผู้สอนไม่อยู่ติดภาระงานตามนโยบาย ศธ บ่อยครั้งเกินไป
        5. ปัญหาผู้เรียนไม่ได้เรียนตามปกติในเวลาเรียนตามตารางเรียนเพราะต้องตอบแบบสอบถามหรือให้ข้อมูลหรือเข้าร่วมกิจกรรมจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่ขอความร่วมมือ
        1.2 กิจกรรม STEM ศึกษา พบวาในขณะนี้คณะพัฒนางานของ STEM ศึกษา จะนัดทำงานกันในเวลาราชการ ส่งผลให้ครูผู้สอน หรือวิทยากรแกนนำละทิ้งภาระงาน การเรียนการสอนตามตารางเวลาปกติ เพื่อดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย ศธ. ทำให้นักเรียนไม่ได้เรียนในรายววิชาที่ครูไม่อยู่ อีกทั้งเป็นภาระที่เพื่อนครูต้องสอนในชั่วโมงนั้น ๆ จึงเห็นว่าควรดำเนินการวางแผนพัฒนาในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดแทนการปฎิบัติในเวลาที่ครูจะต้องทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่ควรดึงครูออกจากห้องเรียนหรือชั่วโมงที่ต้องทำการสอน
        1.3 กิจกรรมแนะแนว การรายงานผลโดย Best Practice เพื่อตอบสนองนโยบาย ศธ สร้างปัญหาให้ครูเพราะต้องจัดทำกิจกรรมเพิ่มเติมตามหัวข้อที่กำหนดให้รายงาน เพิ่มภาวะความเครียดและความกดดันให้ครูมากขึ้น
        1.4 การรายงานผลข้อมูล O-net ให้ สทศ. ซึ่งครูจะต้องจัดทำระบบข้อมูลอยู่ตลอดเวลา จนทำให้ครูเกือบทุกคนพูดหรือบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า "กิจกรรมตามนโยบาย ศธ. มีมาก ๆๆๆๆๆ เกินไป จนทำแทบจะไม่ไหวแล้ว" และนักเรียนก็เริ่มโอดครวญเหมือนกันว่า "ไม่ไหวแล้วววววว จะให้ทำอะไรอีกล่ะครู???"       
นี่คือบันทึก...บริบทและสภาพจริงของการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน - 29 กรกฎาคม 2559 ในระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และเป็นบทบันทึกที่เขียนขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ (26 ก.ค. 2559 - 3 ส.ค. 2559) เพื่อสะท้อนสภาพความเป็นจริงในขณะปัจจุบันของสถานศึกษาในมุมมองของครูผู้สอนและนักเรียนในสถานศึกษาที่ตกอยู่ในสภาวะผู้ถูกกระทำ เพราะในมุมมองของผู้กุมอำนาจรัฐจะใช้นโยบายเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงาน แต่ในระดับสถานศึกษานักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษาต้องเร่งดำเนินกิจกรรมแบบผักชีโรยหน้าเพื่อตอบสนองนโยบาย และทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าการดำเนินงานตาม 11 นโยบายของ ศธ. ในขณะนี้จะเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นตามเป้าหมายหรือถอยหลังเข้าคลอง

..................................................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น