วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom action research)


หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน

(Classroom action research)



1. หลักการและเหตุผล
        การวิจัยในชั้นเรียนหรือการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่ครูผู้สอนในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องดำเนินการเมื่อพบปัญหาการเรียนรู้หรือปัญหาการเรียนการสอนเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับตัวนักเรียนหรือเกิดขึ้นกับตัวครูผู้สอนเอง โดยหาวิธีและแนวทางในการแก้ปัญหานั้นๆ โดยใช้กระบวนการวิจัย การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนของครูให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้
       ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการวิจัยในมาตรา
24 (5) โดยกำหนดให้ครูผู้สอนสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และในมาตรา 30 ระบุให้มีการส่งเสริมให้ครูผู้สอนสามารถทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ระดับการศึกษา ด้วยเหตุผลเหล่านี้ถือได้ว่าการวิจัยในชั้นเรียนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญในการเรียนการสอนของครูผู้สอนในยุคปัจจุบัน
        ดังนั้นการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนจึงเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ครูผู้สอนสามารถพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนของตนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนทำให้กระบวน การจัดการเรียนรู้ของครูมีความเป็นวิชาชีพและมีความเป็นศาสตร์ในวิทยาการของการจัดการเรียนรู้มากขึ้น เพราะการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน โดยให้ครูผู้สอนนำกระบวนการวิจัยมาผสมผสานหรือบูรณาการใช้ในการจัดการเรียนการรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ได้

2. วัตถุประสงค์
     2.1 เพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
     2.2 เพื่อให้ครูตระหนักถึงความสำคัญในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
     2.3 เพื่อให้ครูมีทักษะในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน

3. กลุ่มเป้าหมาย
         ครูโรงเรียนราษฎร์บำรุง ตำบลแสนตอ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 13 คน

4. โครงสร้างหลักสูตร
4.1 เนื้อหาสาระ
        หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ประกอบด้วย ความสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน กระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน การเก็บรวบรวมข้อมูล การเขียนรายงานการวิจัย และการนำเสนอรายงานผลการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
4.2 หน่วยการเรียน
       หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน มีดังนี้
หน่วยการเรียนรู้ เรื่อง การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน 
ครั้งที่ เรื่อง เวลา / ชั่วโมง
1 การสร้างความตระหนักและกระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน 7 ชั่วโมง
2 เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล 7 ชั่วโมง
3 เทคนิคการเขียนรายงานการวิจัย 7 ชั่วโมง
4 เทคนิคการนำเสนอผลงานการวิจัย 7 ชั่วโมง

รวม 28 ชั่วโมง
5. กิจกรรมการฝึกอบรม
     5.1 บรรยาย
     5.2 อภิปราย
     5.3 นำเสนอตัวอย่างกรณีศึกษา
     5.4 ฝึกปฏิบัติ
     5.5 แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการนำเสนอผลงานและให้ข้อมูลสะท้อนกลับ

6. สื่อ/ แหล่งเรียนรู้ในการอบรม
        เอกสารฝึกอบรม (ใบความรู้/ กิจกรรม/ เอกสารประกอบการบรรยาย)

7. การวัดและประเมินผล
        การวัดและประเมินผลหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
(Classroom action research) เน้นการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) โดยมีเป้าหมาย ดังนี้
     7.1 ประเมินความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูจากผลงานการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูโดยใช้แบบประเมินผลงานการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนและประเมินผลจากแบบทดสอบ เรื่อง การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
     7.2 ประเมินความตระหนักถึงความสำคัญในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูจากแบบการตอบแบบสอบถามความตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครู
     7.3 ประเมินทักษะในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูโดยสังเกตการปฏิบัติจริงในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครู

8. เกณฑ์การผ่านหลักสูตรฝึกอบรม
     8.1 ผู้เข้ารับการอบรมต้องเข้าอบรมตามเวลาที่กำหนดไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
     8.2 ผู้เข้ารับการอบรมสามารถเขียนรายงานการวิจัยในปัญหาการเรียนการสอนของตนเองได้ โดยผ่านเกณฑ์คุณภาพงานวิจัยไม่ต่ำกว่าระดับดี ตามแบบประเมินผลงานวิจัยในชั้นเรียนที่กำหนด

9. ระยะเวลาที่ใช้ฝึกอบรม จำนวน 28 ชั่วโมง

10. สถานที่จัดฝึกอบรม ห้องประชุมโรงเรียนราษฎร์บำรุง ต.แสนตอ อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี

11. ตารางการฝึกอบรม
วัน/ เวลา
กิจกรรม
ครั้งที่
วันที่  20 กรกฎาคม 2557
เวลา  08:30  - 16.30  น. 
-                   ลงทะเบียนและพิธีเปิด
-                   การสร้างความตระหนักและกระบวนการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
-                   Workshop  
ครั้งที่
วันที่  27 กรกฎาคม 2557
เวลา  08:30  - 16.30  น. 
-                   เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล
-                   Workshop  
ครั้งที่
วันที่  24 สิงหาคม 2557
เวลา  08:30  - 16.30  น. 
-                   เทคนิคการเขียนรายงานการวิจัย
-                   Workshop  
ครั้งที่
วันที่  19 ตุลาคม 2557
เวลา  08:30  - 16.30  น. 
-                   เทคนิคการนำเสนอผลงานการวิจัย
-                   Workshop  
-                   พิธีปิด

คณะทำงาน
ผศ.ร.ท.ดร.ไพบูลย์ อ่อนมั่ง ร.น.
อ.ดร.มารุต พัฒผล
นางจตุพร ขาวมาลา
นางสาวจริยา ทองหอม
นางสาวจิราพร รอดพ่วง
นางสาวมธุรส ประภาจันทร์
นางสาวิตรี สิทธิชัยกานต์
นาวาตรีหญิงสิริกาญจน์ กระจ่างโพธิ์

หน่วยงาน หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ


......................................................................................................

ลิงค์: 
รายงานการวิจัยในชั้นเรียน เรื่อง ศิลปะกับความงามในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
รายงานผลการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ  การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น โรงเรียนตะไคร้หอม
หนังสือสารคดีเล่มเล็ก เรื่อง วันสดใสของตะไคร้หอม

วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การจัดการเรียนรู้บูรณาการ โรงเรียนตะไคร้หอม


การจัดการเรียนรู้บูรณาการ 
โรงเรียนตะไคร้หอม 
(ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง: ทางสายกลาง)
Integration Learning Management : Citronella School 
(Works sufficiency: The middle way.)
โดย...จริยา ทองหอม


         การจัดการเรียนรู้บูรณาการ โรงเรียนตะไคร้หอม (ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง: ทางสายกลาง)  เป็นการจัดการเรียนรู้ แบบบูรณาการทั้งโรงเรียน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย และ ระดับประถมศึกษาปีที่ 1- มัธยมศึกษาปีที่ 3  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกๆท่าน และประสบความสำเร็จด้วยดี...

ตัวอย่างภาพผลงาน
1. การออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนรู้บูรณาการ โรงเรียนตะไคร้หอม (ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง: ทางสายกลาง) ช่วงชั้นที่ 1-3 หรือ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3


2. ตัวอย่าง แผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการ โรงเรียนตะไคร้หอม (ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง: ทางสายกลาง) ช่วงชั้นที่ 1-3 หรือ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3


3. ตัวอย่าง  เอกสารประกอบการสอน และชุดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ โรงเรียนตะไคร้หอม (ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง: ทางสายกลาง) ช่วงชั้นที่ 1-3 หรือ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3


4. ตัวอย่าง ผลงานนักเรียนประเภทหนังสือส่งเสริมการอ่านที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้บูรณาการ โรงเรียนตะไคร้หอม (ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง: ทางสายกลาง) ช่วงชั้นที่ 1-3 หรือ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3


วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระทัศนศิลป์



กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ สาระทัศนศิลป์


กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะเป็นกลุ่มสาระที่ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีจินตนาการทางศิลปะ ชื่นชมความงาม มีสุนทรียภาพ ความมีคุณค่า ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ กิจกรรมทางศิลปะช่วยพัฒนาผู้เรียนทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นในตนเอง อันเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพได้


ความหมายของศิลปะ
ศิลปะ แต่เดิมหมายถึง งานช่างฝีมือ เป็นงานที่มนุษย์ใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ขึ้นด้วย ความประณีตวิจิตรบรรจงฉะนั้น งานศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็น ผลงานที่มนุษย์ใช้ปัญญาความศรัทธา และความพากเพียรพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่
….ศิลปะ คือ ผลแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ให้ปรากฏซึ่งสุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือความสะเทือนอารมณ์ ความอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา ประสบการณ์ รสนิยมและทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ ความรื่นรมย์ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณีหรือ ความเชื่อทางศาสนา ( พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2530 )
….ศิลปะ คือ ผลงานการสร้างสรรค์รูปลักษณ์แห่งความพึงพอใจขึ้นมา และรูปลักษณ์ก่อให้เกิดอารมณ์ รู้สึกในความงาม อารมณ์รู้สึกในความงามนั้นจะเป็นที่พึงพอใจได้ก็ต่อเมื่อ ประสาทสัมผัสของเรา
ชื่นชมในเอกภาพ หรือความประสมกลมกลืนกันในความสัมพันธ์อันมีระเบียบแบบแผน ( Herbert Read, 1959)
กล่าวโดยสรุป ศิลปะ เป็นผลงานที่เกิดจากการแสดงออกของอารมณ์ ปัญญา และทัศนคติ รวมทั้งทักษะความชำนิ ชำนาญของมนุษย์ การสร้างสรรค์งานศิลปะในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางการสร้างสรรค์ และการแสดงออกของอารมณ์และความคิด ดังนั้น งานศิลปะนั้นอย่างน้อยที่สุดควรก่อให้เกิดอารมณ์ และ ความคิดสร้างสรรค์ 


ทัศนศิลป์
ความหมายของทัศนศิลป์
ทัศนศิลป์ คือ กระบวนการถ่ายทอดผลงานทางศิลปะการทำงานศิลปะอย่างมีจิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ มีระบบระเบียบเป็นขั้นเป็นตอน การสร้างสรรค์งานอย่างมีประสิทธิภาพสวยงาม มีการปฏิบัติงานตามแผนและมีการพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทัศนศิลป์ คือ ศิลปะที่มองเห็นได้ การรับรู้ทางจักษุประสาท โดยการมองเห็น สสาร วัตถุ และสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ รวมถึงมนุษย์ และสัตว์ จะด้วยการหยุดนิ่ง หรือเคลื่อนไหวก็ตาม หรือจะด้วยการปรุงแต่ง หรือไม่ปรุงแต่งก็ตาม ก่อให้เกิดปัจจัยสมมุติต่อจิตใจ และอารมณ์ของมนุษย์ อาจจะเป็นไปในทางเดียวกันหรือไม่ก็ตาม มีขั้นตอนและกระบวนการในการถ่ายทอดที่มีลักษณะเฉพาะ
ทัศนศิลป์ เป็นการแปลความหมายทางศิลปะ ที่แตกต่างกันไปแต่ละมุมมอง ของแต่ละบุคคล ในงานศิลปะชิ้นเดียวกัน ซึ่งไร้ขอบเขตทางจินตนาการ ไม่มีกรอบที่แน่นอน ขึ้นกับอารมณ์ของบุคคลในขณะทัศนศิลป์ นั้น
แนวคิดทัศนศิลป์ เป็นศิลปะที่รับรู้ได้ด้วยการมอง ได้แก่รูปภาพวิวทิวทัศน์ทั่วไปเป็นสำคัญอันดับต้นๆ รูปภาพคนเหมือน ภาพล้อ ภาพสิ่งของต่างๆก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของทัศนศิลป์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งถ้ากล่าวว่าทัศนศิลป์เป็นความงามทางศิลปะที่ได้จากการมอง หรือ ทัศนา นั่นเอง


ประเภทของทัศนศิลป์
1. จิตรกรรม หมายถึง การสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์บนพื้นระนาบด้วยวิธีการลาก การระบายสีลงบนพื้นผิววัสดุที่มีความราบเรียบ เช่นกระดาษ ผ้าใบ แผ่นไม้ เป็นต้น เพื่อให้เกิดเรื่องราวและความงามตามความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของผู้วาด จำแนกออกได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
- ภาพวาด (drawing) เป็นศัพท์ทางทัศนศิลป์ที่ใช้เรียกภาพวาดเขียน ภาพวาดเส้น แบบเป็น 2 มิติ คือ มีความกว้างและความยาว โดยใช้วัสดุต่างๆ เช่น ดินสอดำ สีไม้ สีเทียน เป็นต้น
- ภาพเขียน (painting) เป็นการสร้างงาน 2 มิติ บนพื้นระนาบด้วยสีหลายสี เช่น การเขียนภาพด้วยสีน้ำ สีดินสอ สีน้ำมัน เป็นต้น
2. ประติมากรรม (sculpture) หมายถึง การสร้างงานทัศนศิลป์ที่เกิดจากกรปั้น การแกะสลัก การหล่อ การเชื่อม เป็นต้น โดยมีลักษณะ 3 มิติ คือ มีความกว้าง ความยาว และความหนา เช่นรูปคน รูปสัตว์ รูปสิ่งของ เป็นต้น ประติมากรรมจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้ แบบนูนต่ำ (bas-relief) เป็นการปั้นหรือสลักโดยให้เกิดภาพที่นูนขึ้นจากพื้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น รูปบนเหรียญต่างๆ (เหรียญบาท เหรียญพระห้อยคัว) เป็นต้น
- แบบนูนสูง (high- relief) เป็นการปั้นหรือสลักให้รูปที่ต้องการนูนขึ้นจากพื้นหลังมากกว่าครึ่งเป็นรูปที่สามารถแสดงความตื้นลึกตามความเป็นจริง เช่น ประติมากรรมที่ฐานอนุสาวรีย์ เป็นต้น
- แบบลอยตัว (round- relief) เป็นการปั้นหรือสลักที่สามารถมองเห็นและสัมผัส ชื่นชมความงามของผลงานได้ทุกด้านหรือรอบด้าน เช่นพระพุทธรูป เป็นต้น
3. สถาปัตยกรรม (Archiecture) หมายถึง ศิลปะและวิทยาการแห่งการก่อสร้างที่นำมาทำเพื่อสนองวามต้องการในด้านวัตถุและจิตใจ มีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างอย่างงดงาม จำแนกออกได้ 2 ลักษณะ ดังนี้
- แบบเปิด หมายถึง สถาปัตยกรรมที่มนุษย์สามารถเข้าไปใช้สอยได้ เช่น อาคารเรียน ที่พักอาศัย เป็นต้น
4. ภาพพิมพ์ (Printing) หมายถึง ผลงานศิลปะที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวิธีการพิมพ์ ด้วยการกดแม่พิมพ์ให้ติดเป็นภาพบนกระดาษ เช่นแม่พิมพ์ไม้ แม่พิมพ์โลหะ เป็นต้น ภาพพิมพ์สามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- พิมพ์ผิวนูน (Relief process) เป็นกระบวนการพิมพ์ให้เกิดส่วนลึกและนูนหรือมีความแตกต่างทางผิวพื้นของแม่พิมพ์ด้วยการแกะ หล่อ กัดด้วยกรด หรือวิธีอื่นๆ เช่น ภาพพิมพ์แกะไม้ ภาพพิมพ์โลหะ เป็นต้น
- พิมพ์ร่องลึก (intaglio process) เป็นการพิมพ์ที่ตรงกันข้ามกับกระบวนการพิมพ์ผิวนูน ได้แก่ เอทชิง เป็นต้น
- พิมพ์พื้นราบ (planographic process) กลวิธีนี้รู้จักในนามของภาพพิมพ์หิน
- พิมพ์ฉากพิมพ์ (serigraphic process) การพิมพ์แบบนี้ที่รู้จักกันดีคือการพิมพ์ตัดกระดาษ เป็นต้น

แหล่งข้อมูล
e-learning โครงการ e-learning ของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ (โครงการ eDLTV)
บทเรียนแสวงรู้บนเว็บ วิชาศิลปะ ศ 33101 สาระทัศนศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
บทเรียนศิลปะ ห้องเรียนศิลปะกลับทาง
ทัศนศิลป์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ย่านลิเภา ผลิตภัณฑ์ OTOP ของ...ชาวนครศรีธรรมราช



ย่านลิเภา
ต้นตำรับ   ผลิตภัณฑ์  OTOP 
ของ...ชาวนครศรีธรรมราช

(YanLiPhao: The Original OTOP products of Nakhon Si Thammarat)

โดย...จริยา    ทองหอม




บทนำ  

        “... ย่านลิเภานี้เป็นศิลปะเก่าแก่ของบรรพบุรุษเรา แล้วก็วัตถุดิบก็เกิดขึ้นเองภายในประเทศคือ ทางภาคใต้ที่ฝนตกมากตัวย่านลิเภานั่นก็คือเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่ขึ้นเอง รกโดยธรรมชาติ ใต้ต้นยาง ใต้สวนยาง ปิดดินให้ชุ่มชื้น และที่ภาคใต้ใช้ได้ดีเพราะว่าฝนตกมาก ทำให้เกิดความเหนียว ทำให้เส้นเหนียว และอยู่ได้เป็นร้อยปี อันนี้ที่คนญี่ปุ่นบอกว่าเป็นลักษณะพิเศษของย่านลิเภา ถ้าแม้นว่าทิ้งให้แก่กับต้นแล้ว ใยของเขาจะเหนียวอยู่ได้เป็นร้อยปี โดยที่ไม่มีตัวแมลงมากัดกินเลย เพราะฉะนั้นพูดได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเมืองไทย... ”

                                                             

พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ   11  สิงหาคม  2524
ที่มา  ผู้จัดการออนไลน์  ย่านลิเภา  สาระสังเขปออนไลน์   
จากเว็บไซต์  http://www.lcc.ac.th/forum/board_posts.asp?FID=187  สืบค้นวันที่  8 กันยายน  2552



ย่านลิเภาคืออะไร
       ย่านลิเภา   คำนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำมาจากภาษามลายูว่า  ลิบู  ซึ่งแปลว่า จิ้งจก เพราะใบของลิเภา มีลักษณะเป็นหยักคล้ายตีนจิ้งจกก็อาจเป็นได้ ลักษณะโดยทั่วไปของลิเภา ก็คือ เป็นเถาขนาดเล็ก เลื้อยเกาะต้นไม้อื่นในป่า หรือสุมทุมพุ่มไม้ เป็นสายระโยงระยางไปทั่วบริเวณป่า   เมื่อสดเถาจะมีสีเขียว   เมื่อเด็ด หรือตัดวางให้แห้งจะเป็นสีน้ำตาล ใบมีลักษณะเป็นหยักยาว โคนใบใหญ่ ปลายใบเล็กเรียวแหลม เส้นในเป็นเส้นนูน ริมใยเป็นหยักๆ ฟันปลาถี่ละเอียดทั้งสองข้าง เถาหนึ่งๆ มักมี 4-6 ใบ แต่ละเถายาวประมาณ 1-2 เมตร มีขนาดโตเท่าก้านไม้ขีดไฟ  เถานี้เองซึ่งชาวบ้านภาคใต้ตัดเอามาทำเป็นภาชนะเรียกว่า   "ย่านลิเภา"   
        ย่านลิเภา หรือลิเภา เป็นชื่อพืชจำพวกเฟิร์น  มีเถาเหนียว  คงทนมาก  ขึ้นงอกงามในป่าพรุทางภาคใต้  เคยนำมาจักสานเป็นเครื่องใช้  เช่น  กระเป๋าถือสตรี  หีบหมาก  แต่กำลังสูญหายไป สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จัดหาครูที่มีความสามารถจากจังหวัดนครศรีธรรมราชไปสอนการจักสานย่านลิเภาให้แก่ราษฎรของจังหวัดนราธิวาส  ซึ่งมีย่านลิเภาขึ้นงอกงามมาก    การจักสานย่านลิเภาจึงค่อยๆขยายตัวกว้างขวางออกไปในท้องถิ่นต่างๆของจังหวัดนราธิวาส    นอกจากนี้ยังมีการฝึกสอน  การจักสานย่านลิเภา   ทั้งที่โรงฝึกศิลปาชีพ  สวนจิตรลดา และศูนย์ศิลปาชีพบางไทร  เพื่อผลิตกระเป๋าถือสตรีที่มีลวดลายงดงาม  ประดับตกแต่งบานพับหูหิ้ว  ทำด้วยถมทอง  ซึ่งเป็นงานของช่างถมทองอีกต่อหนึ่ง

การจักสานงานหัตถกรรมย่านลิเภา
         การจักสานย่านลิเภา  จะนำย่านลิเภาที่แห้งสนิทดีแล้วมาปอกเปลือกออก  ในการสานจะใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเปลือก  ส่วนไส้จะทิ้งไป  จากนั้นนำเส้นลิเภามาชักเลียด  โดยดึงผ่านโลหะซึ่งมีรู  ทำให้เส้นลิเภาถูกกลึงเรียบเสมอกันทั้งเส้น  การสานมีสองแบบ  คือ  แบบที่ต้องขึ้นรูป     เช่น  กระเป๋าครึ่งลูก  กระเป๋าทึบ  หมวก ฯลฯ  และแบบที่ต้องจักสานโดยไม่ต้องขึ้นรูป  เช่น  กำไล  ที่คาดผม  หวีสับ  ฯลฯ  หลังจากสานเป็นรูปเป็นร่างแล้ว  จึงลงน้ำมันเคลือบผิวชักเงา  ถ้าเป็นกระเป๋าต้องบุผ้ากำมะหยี่สีแดง  สีน้ำเงิน  สีน้ำตาล  และติดกระจกบานเล็กที่ฝากระเป๋าด้านในด้วย

รูปแบบงานหัตถกรรมย่านลิเภา
       งานหัตถกรรมย่านลิเภา   มี 2 แบบ   คือ 
       แบบทึบ   ใช้วิธีสอด และพันโดยการพลิกด้านหน้า และด้านหลังของเส้นลิเภา เพื่อทำให้เกิดลาย โดยจะมีวัสดุเพียงย่านลิเภา และหวาย 
       แบบโปร่ง ใช้วิธีขัด และยกลาย ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกับการทอผ้า คือจะมีดอกยืนและเส้นนอน 

ขั้นตอนการจักสานงานหัตถกรรมย่านลิเภา 
        กว่าเราจะได้ผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาสักชิ้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก   เพราะมีกรรมวิธีและขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่แพ้งานหัตถกรรมชนิดอื่น  ขั้นตอนการจักสานงานหัตถกรรมย่านลิเภา 



1.  เริ่มตั้งแต่นำย่านลิเภามาฉีกให้เป็นเส้น  แล้วนำไปแช่น้ำให้ชุ่ม



 2. นำขึ้นมาฉีกให้เป็นเส้นฝอยๆ  




3. นำฝากระป๋องนมมาเจาะ รู   ให้มีขนาดเรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กที่สุด  



 4. นำย่านลิเภาที่เป็นเส้นฝอยมารูดทีละช่องจนถึงช่องที่เล็กสุด จะได้ลิเภาเส้นเล็ก ทำทีละมากๆ   เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้โดยส่วนที่ยังไม่ใช้ให้ใส่ถุงพลาสติกแช่ในตู้เย็นเพื่อเก็บความชื้นไว้ จะง่ายต่อการสานเพราะเมื่อเส้นลิเภาแห้งจะสานได้ยาก



5. จากนั้นใช้หวายเป็นแกนนำในการสาน โดยนำฝากระป๋องนมมาเจาะ รู ให้มีขนาดเรียงลำดับจากช่องใหญ่ไปยังช่องเล็กสุด คนละอันกับฝากระป๋องนม สำหรับทำเส้นลิเภา






         6. เมื่อได้หวายตามขนาดที่ต้องการ  นำหวายมาขดเป็นวงรี  เพื่อทำก้นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์   นำเส้นลิเภาที่เตรียมไว้มาสานโดยใช้เหล็กปลายแหลมเจาะนำที่หวายให้เป็นรูแล้วนำเส้นลิเภาสอดเข้าไป โดยใช้วิธีสานสลับเดินหน้า เวลาสานมุมโค้งต้องใช้ความละเอียด สานจนได้ขนาดกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ตามต้องการ  เมื่อสานก้นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ขนาดที่ต้องการแล้ว นำหวายมาขดเป็น วงรีวางให้เหลื่อมกับก้นกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ ถ้าต้องการ ให้มีลวดลายใช้วิธีสานกลับด้านเส้นลิเภา ซึ่งจะมีสีอ่อนกว่าเล็กน้อย ระหว่างสาน ใช้มีดขูดเส้นลิเภาเพื่อเพิ่มความเรียบ  สำหรับการทำฝากระเป๋า การขึ้นต้นแบบเดียวกับการขึ้นก้นกระเป๋า เมื่อสานย่านลิเภาได้  2-3 รอบ วางเส้นหวายชั้นต่อไปให้เหลื่อมเหมือนเป็นชั้นลายพื้นก็ได้ สำหรับขนาดก็ขึ้นอยู่กับตัวกระเป๋า    ขอบฝาวางหวายในลักษณะเดียวกับการขึ้นก้นกระเป๋าให้มีขนาดกว้าง 1 นิ้ว สานหูกระเป๋าโดยใช้หวายเป็นแกน 2-3 เส้น สานลิเภาสลับกันให้เป็นลายขดกันให้เป็นเส้นโค้ง   เมื่อได้ตัวกระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์แล้วนำไปกรุผ้าไหมหรือผ้ากำมะหยี่ขั้นตอนสุดท้ายนำไปติดเครื่องทองเหลือง  หรือถมทอง  ตรงที่เปิดปิดและบานพับด้านหลัง  
         ขั้นตอนทั้งหมดนี้ต้องใช้ความพยายาม  ความอดทนอย่างยิ่งจึงจะได้มาซึ่งชิ้นงานสักหนึ่งชิ้นที่ทรงคุณค่าและประณีต

 การเลือกซื้อและดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา
       จังหวัดนครศรีธรรมราช    เป็นจังหวัดที่มีกลุ่มคนมีฝีมือด้านงานจักสานย่านลิเภาอยู่มาก จึงมีกลุ่มจักสานย่านลิเภาเกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชหลากหลายกลุ่ม    ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์และความงดงามโดดเด่นเฉพาะกลุ่มกันไป     เช่นที่    ห้างเพชรทองบุญรัตน์   และกลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านหนองบัว  ในเขตอำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช    ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งผลิตสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดในฐานะเป็น  OTOP  ระดับ 5 ดาว  

วิธีการเลือกซื้อ
       วิธีเลือกซื้อ  ดูวิธีขัดของเส้นลิเภา  งานที่ละเอียด  ช่องไฟจะมีความสม่ำเสมอ  เส้นลิเภาทั้ง
เส้นยืนและเส้นขัดต้องไม่เป็นคลื่น  ต้องราบเรียบเสมอกันตลอด  ถ้าผลิตภัณฑ์ชิ้นใด  ลวดลายสะดุดตา  เช่น  ดอกใหญ่  แสดงว่า  เป็นงานที่ค่อนข้างหยาบ  และควรดูความเรียบร้อยของการเก็บปลายด้ายด้วย

การดูแลรักษา
       สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภาแต่ยังเกรงอยู่ว่าจะยากต่อการเก็บรักษามีเคล็ดลับ 
คือ  เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาไปใช้แล้วนั้นหลังใช้ให้เช็ดด้วยผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ นำมาผึ่งแดดประมาณ 20-30 นาที และเก็บใส่ถุงให้มิดชิดและอย่านำสิ่งของวางทับบนเครื่องจักสานย่านลิเภาเพราะจะทำให้เสียรูปทรงได้

ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า
สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา

ผู้ผลิตและสินค้า
(Producer & Products)
ที่อยู่
(Address)
โทรศัพท์
(Telephone)
1
197 หมู่ 5 บ้านหมน ถนนนครสงขลา ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
075 670354, 08 7893 4372
2
กลุ่มผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา
57 หมู่ 16 บ้านแคสูง ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
08 9588 2614
3
2 ถนนสุรินทร์ราชา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
075 345962, 08 1597 5540
4
1385/4 ถนนเนรมิต ตำบลคลัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
www.boonyarat.com
075 356196, 08 9474 3918
5
33 หมู่ 16 บ้านแคสูง ถนนนครศรีฯ-หัวไทร ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80290
075 670097
6
กลุ่มผลิตภัณฑ์ ย่านลิเภา
75/21 หมู่ 1 ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
075 346178
7
กลุ่มจักสานลิเภาบ้านยวลแหล
หมู่ 4 บ้านยวนแหล ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
075 356543
(พัฒนาชุมชนอำเภอ)
8
กลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านหนองบัว
145 หมู่ 7 ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
08 1968 6880

       การนำย่านลิเภามาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้หลักจากการทำผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาตกเดือนละหลายพันบาท ด้วยความที่มีคุณสมบัติพิเศษของย่านลิเภาคือ มีลำต้นเหนียว ทนทาน จึงเหมาะที่จะนำมาสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ เชี่ยนหมาก กระเป๋าหนีบ  เป็นต้น

บทสรุป
       จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกลุ่มคนมีฝีมือเรื่องงานจักสานย่านลิเภาอยู่มาก   จึงมีกลุ่มจักสานย่านลิเภาเกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชหลากหลายกลุ่ม   ซึ่งล้วนแต่มีเอกลักษณ์และความงดงามโดดเด่นเฉพาะกลุ่มกันไป   เช่นที่   ร้านมนัสจิวเวลรี่ แอนด์ กิ๊ฟช๊อป   ห้างเพชรทองบุญรัตน์ และกลุ่มจักสานย่านลิเภาบ้านหนองบัว ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งล้วนแต่เป็นแหล่งผลิตสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดในฐานะเป็น  OTOP   ระดับ 5 ดาว
         การนำย่านลิเภามาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้หลักจากการทำผลิตภัณฑ์ย่านลิเภาตกเดือนละหลายพันบาท ด้วยความที่มีคุณสมบัติพิเศษของย่านลิเภาคือ มีลำต้นเหนียว ทนทาน จึงเหมาะที่จะนำมาสานเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ เชี่ยนหมาก กระเป๋าหนีบ เป็นต้น
         ย่านลิเภาเป็นศิลปะหัตกรรมของชาวนครศรีธรรมราชที่สร้างอาชีพ  สร้างรายได้ ควรค่าแก่การเผยแพร่ ให้เป็นสินค้า  OTOP   และดำรงไว้ซึ่งศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตราบนานเท่านาน

 เอกสารอ้างอิง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  (2548)  เที่ยวทั่วไทยไปกับนายรอบรู้  นครศรีธรรมราช  สำนักพิมพ์สารคดี
กรุงเทพฯ
โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน  โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2549)
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ   ฉบับเสริมการเรียนรู้  กรุงเทพฯ
จังหวัดนครศรีธรรมราช (2549, 12 กันยายน)   ผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา    สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์ 
                http://www.thaitambon.com/   สืบค้นวันที่  15  กรกฎาคม 2552
ผู้จัดการออนไลน์ (2552)   ย่านลิเภา  สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์  http://www.lcc.ac.th/
สืบค้นวันที่  8 กันยายน  2552
ททท.สำนักงานภาคใต้  เขต  2  (2546)  Amazing  Thailand   เที่ยวไทยให้สนุก  เติมความสุขให้ชีวิต  
กองข่าวสารการท่องเที่ยว 
ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช (2552)   จักสานย่านลิเภา  สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์ 
http://www.tat.or.th/nakhonsithammarat/  สืบค้นวันที่  15  กรกฎาคม  2552
มนัส  พิศสุพรรณ  (2552, 15 กรกฎาคม)  เจ้าของและผู้จัดการร้านมนัสจิวเวลรี่ แอนด์ กิ๊ฟช๊อป  ผลิตภัณฑ์
จักสานย่านลิเภา  สัมภาษณ์โดย  จริยา  ทองหอม  สถานที่สัมภาษณ์   893/1  ถนนท่าช้าง  ตำบลคลัง  อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  80000   โทร.075-356-612 
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (2552)  ความหมายของย่านลิเภา  สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์ 
http://th.wikipedia.org/wiki/   สืบค้นวันที่  8 กันยายน  2552
วิน  แม้นสุรางค์  (2552, 23 กรกฎาคม)  กลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรเมืองนครศรีธรรมราช   ย่านลิเภา 
สัมภาษณ์โดย  ฐิตารีย์  ชาโนเพ็ญศิริ   สถานที่สัมภาษณ์   33  หมู่  16   บ้านแคสูง  ถนนนครศรีฯ หัวไทร  ตำบลท่าเรือ   อำเภอเมือง  จังหวัดนครศรีธรรมราช  80000  โทร.075-670-097 
Kapok! (2552)  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ  สาระสังเขปออนไลน์   จากเว็บไซต์ 
                http://queen.kapook.com/index.php   สืบค้นวันที่  8 กันยายน  2552

..............................................................................................................